ข้อควรทราบ ในการทำ 'ประกันชีวิต'

เปิดข้อควรรู้ในการทำประกันชีวิต ตามหลักพื้นฐานที่สำคัญของการทำสัญญาประกันภัยตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 และมาตรา 866 มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง หรือมีข้อควรระวังอย่างไร? ติดตามอ่านได้ที่นี่

การทำประกันชีวิต เป็นการทำสัญญาประกันภัยประเภทหนึ่ง ซึ่งสัญญาประกันภัยเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 20 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) สัญญาจะมีความสมบูรณ์ มีผลผูกพันคู่สัญญา เป็นโมฆะหรือโมฆียะหรือไม่ การบอกล้าง ตลอดจนสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาและบุคคลที่รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย นอกจากต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายเรื่องนิติกรรมและสัญญาแล้ว ต้องเป็นเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ปพพ. ลักษณะ 20 นี้ด้วย

สัญญาประกันชีวิต ประกอบด้วยบุคคล 3 ฝ่าย คือ ผู้รับประกันชีวิตฝ่ายหนึ่ง (หลังจากที่มีการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ออกบังคับใช้ ผู้รับประกันชีวิตต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิต ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต กฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือ พ.ร.บ.ประกันชีวิต 2535) ผู้เอาประกันภัย คือผู้ทำประกันชีวิตฝ่ายหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งคือผู้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินที่ชดใช้ โดยอาจเป็นคนเดียวกันกับผู้เอาประกันก็ได้

หลักพื้นฐานที่สำคัญของการทำสัญญาประกันภัย (ประกันชีวิต) ตามที่บัญญัติใน ปพพ.มาตรา 865 และมาตรา 866 คือ

  • ผู้ทำประกันชีวิตจะต้องเปิดเผยความจริง หรือต้องไม่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

ผลของการไม่เปิดเผยความจริงหรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ที่หากผู้รับประกันชีวิตรู้ความจริงแล้วจะเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือปฏิเสธไม่รับประกัน มีผลทำให้สัญญาประกันชีวิตนั้นเป็นโมฆียะ 

ข้อยกเว้น  ถ้าผู้รับประกันชีวิตรู้ความจริงอยู่แล้วหรือรู้ว่าผู้ทำประกันชีวิตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือควรจะรู้ถ้าได้ใช้ความระมัดระวังตามที่วิญญูชนทั่วไปสามารถคาดหมายได้ กฎหมายบัญญัติว่าสัญญาประกันชีวิตนั้นสมบูรณ์ใช้บังคับได้

  • การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่เป็นโมฆียะ

ผู้รับประกันมีสิทธิบอกล้าง คือยกเลิกสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ทราบมูลที่จะบอกล้างได้ แต่ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายใน 1 เดือนหรือ 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาสิทธิบอกล้างเป็นอันหมดไป

  • แนวคำพิพากษาศาลฎีกา

กรณีไม่เปิดเผยความจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2520 ผู้ขอเอาประกันมิได้เปิดเผยความจริงว่าเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด การตรวจโรคด้วยวิธีธรรมดาจะพบได้ยาก แพทย์ของผู้รับประกันตรวจร่างกายด้วยวิธีธรรมดาเห็นว่าปกติ ไม่เข้าข่ายที่ถือว่าผู้รับประกันประมาทเลินเล่อ สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วผู้รับประกันไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3212/2522 สัญญาประกันชีวิตซึ่งผู้เอาประกันชีวิตปกปิดความจริงเป็นโมฆียะ หากผู้รับประกันนำสืบฟังไม่ได้ว่าได้บอกล้างแล้ว ผู้รับประกันภัยต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2524 การที่ผู้เอาประกันภัยละเว้นไม่เปิดเผยความจริงอันจะทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะนั้นต้องเป็นข้อความซึ่งผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วว่าจะเป็นเหตุจูงใจให้ผู้ประกันภัยเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา

ผู้เอาประกันภัยเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออกและไม่ทราบถึงความร้ายแรงของโรคที่เป็นอยู่ ตัวแทนจำเลยผู้รับประกันมิได้สอบถามประวัติความเจ็บป่วยของผู้เอาประกัน เพียงแต่สอบถามอายุแล้วให้ลงลายมือชื่อในแบบคำขอเอาประกัน แล้วไปกรอกข้อความเสียเอง ผู้เอาประกันภัยจึงไม่มีโอกาสจะได้รู้ข้อความจริงที่ตนเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน อันจะเป็นเหตุจูงใจให้จำเลยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัยหรือไม่ เมื่อผู้เอาประกันไม่รู้เช่นนี้จะถือว่าผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยความจริงหาได้ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้ตาม ปพพ. มาตรา 865

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4457/2536 ตัวแทนประกันชีวิตเอาแบบคำขอประกันชีวิตให้เด็กหญิง ป ลงลายมิชื่อ แล้วตัวแทนเอาแบบคำขอไปกรอกข้อความเอง เด็กหญิง ป อายุเพียง 8 ปีย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะแจ้งข้อความเกี่ยวความเจ็บป่วยของตนและไม่สามารถทราบได้ถึงความร้ายแรงของโรคเลือดที่ผิดปกติที่ตนเป็นอยู่ได้ จะถือว่าผู้เอาประกันละเว้นไม่เปิดเผยความจริง ตาม ปพพ. มาตรา 865 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3428-3429/2529 ข้อความจริงตามคำขอประกันชีวิตที่เกี่ยวกับรายได้และความสามารถในการหารายได้ของผู้เอาประกัน ตลอดจนข้อที่ผู้เอาประกันเคยถูกบริษัทประกันชีวิตรายอื่นปฏิเสธหรือลดจำนวนเงินขอเอาประกันถือว่าเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ผู้เอาประกันต้องเปิดเผยทราบ เพราะอาจจะจูงใจให้บริษัทเรียกเก็บเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาได้ เมื่อผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวในเวลาทำสัญญา ย่อมตกเป็นโมฆะ 

  • ผู้เป็นตัวแทนหาประกันชีวิต มิใช่ตัวแทนของผู้รับประกันชีวิต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3229/2538 ผู้เอาประกันชีวิตรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่แจ้งในคำขอประกันชีวิตว่าไม่เคยเป็นโรคดังกล่าวอันเป็นความเท็จ สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆียะ การที่ตัวแทนหาประกันชีวิตรู้ว่าผู้เอาประกันเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็จะถือว่าบริษัทรับประกันชีวิตรูด้วยไม่ได้ เพราะมิได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนหรือเป็นตัวแทนของจำเลยผู้รับประกันชีวิตแต่เป็นเพียงผู้หาผู้ที่จะเอาประกันชีวิตและดำเนินการทำคำขอเอาประกันชีวิตให้แก่ผู้เอาประกันเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2551 คำพิพากษาศาลาฎีกาที่ 6993/2561 ก็วินิจฉัยแนวเดียวกันกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2538 คือ ตัวแทนประกันชีวิตเป็นเพียงบุคคลผู้ชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิต จะถือว่าตัวแทนประกันชีวิตเป็นตัวแทนบริษัทประกันชีวิตจะต้องมีหลักฐานเอกสารยืนยันว่า ตัวแทนได้รับมอบอำนาจจากบริษัทให้ทำสัญญาประกันชีวิตในนามบริษัทได้ 

  • กรณีตัวแทนหลอกให้ทำประกันชีวิต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2522 จำเลยที่2เป็นตัวแทนผู้จัดการสาขาของจำเลยที่1 บริษัทรับประกันชีวิต จำเลยที่2หลอกให้โจทก์ทำประกันชีวิตโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพซึ่งความจริงโจทก์ต้องตรวจสุขภาพก่อน ถ้าโจทก์รู้ความจริง โจทก์จะไม่เอาประกันชีวิต ดังนี้เท่ากับจำเลยที่1หลอกลวงโจทก์ สัญญาเป็นโมฆียะ โจทก์บอกล้างเลี้ยงเบี้ยประกันคืนได้