ลด 'ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง' ปีแรก 90% เน้นฐานภาษีเป็นสำคัญ

"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562" ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ทำให้ ครม.มีมติเลื่อนการชำระภาษีจากเดือนเมษายน เป็นสิงหาคม 2563 และลดอัตราภาษีลง 90% มาดูรายละเอียดกันที่ดินแต่ละประเภทจะคำนวณภาษีอย่างไรบ้าง?
ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) ให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ สำหรับปีภาษี พ.ศ.2563
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ได้มีการประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2562 และได้กำหนดให้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 แต่ด้วยปัญหาในทางปฏิบัติจึงมีการขยายระยะเวลาสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี พ.ศ.2563 จากเดิมที่ต้องชำระภาษีภายในเดือน เม.ย. เป็นเดือน ส.ค. แต่ใช้เฉพาะปี 2563 นี้เท่านั้น ส่วนในปี 2564 เจ้าของที่ดินจะต้องจ่ายภาษีอัตราเดิมภายในเดือน เม.ย.
การเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยหดตัวลงอย่างรุนแรง กระทบต่อคนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง จึงมีการเสนอให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภทตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และที่รกร้างว่างเปล่า โดยอัตราภาษีจะเป็นรูปแบบของขั้นบันไดที่เพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษีที่ดิน
การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% โดยไม่เลื่อนหรือยกเลิกการจัดเก็บภาษี ก็เพื่อให้ทราบว่าใครบ้างต้องเสียภาษี หรือฐานภาษีมีใครบ้าง แม้จะส่งผลกระทบต่อรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยคาดว่าจะเก็บได้เพียง 3,900 ล้านบาท จากที่คาดไว้ 39,420 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงเวลานี้ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบอื่นๆ ส่งผลให้ประชาชน เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับการลดภาษี 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ เช่น
กรณีที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.01 หากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 50 บาท
กรณีที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน สำหรับบ้านหลังอื่น หากมูลค่าประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า รวมถึงกรณีที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม หากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท
ในระยะสั้น การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คงไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยมากนัก เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับการซื้อขาย ดังเช่นการลดค่าธรรมเนียมการโอน-การจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ขณะที่ทางด้านผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่ดินไม่ใช่ต้นทุนหลักและมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนการก่อสร้างและราคาที่ดิน อย่างไรก็ตาม
ในระยะยาว การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เนื่องจากผู้มีทรัพย์สินมูลค่าสูงจะมีภาระต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ จึงช่วยกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังขึ้นอยู่กับความต้องการและอุปทานที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
หมายเหตุ : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2563 มีมติเห็นชอบการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'เราชนะ' สรุปใครได้ 3,500 บาท 2 เดือนบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!
'ออมสิน' เปิดลงทะเบียน 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' 23 ม.ค.เคยกู้ 'สินเชื่อฉุกเฉิน' ก็กู้อีกได้!