อุตสาหกรรม 'น้ำมันปาล์ม' ความท้าทายสู่การปรับตัว

อุตสาหกรรม 'น้ำมันปาล์ม' ความท้าทายสู่การปรับตัว

ปัจจุบันอุตสาหกรรม "ปาล์มน้ำมัน" ไทยต้องเผชิญปัจจัยท้าทาย ทั้งอุปทานส่วนเกินต่อเนื่อง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงกระแส Palm Oil Free นับเป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมนี้มาก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันการณ์

ประเทศไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.9% จึงทำให้ไม่มีอำนาจหรือบทบาทที่จะกำหนดทิศทางราคาเหมือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย ประกอบกับศักยภาพการผลิตน้ำมันปาล์มดิบของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ จึงนับเป็นข้อจำกัดด้านการแข่งขันในตลาดโลก ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 75% จึงใช้บริโภคในประเทศเป็นหลัก

สำหรับการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบในประเทศแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ คิดเป็นสัดส่วน 68% ของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมไบโอดีเซลหรือ B100 เพื่อนำไปผสมเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ โดยทางการจะปรับอัตราส่วนผสม B100 ในน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบแต่ละช่วงเวลา (เช่น ปี 2558 มีการปรับลดจาก B7 เป็น B3.5 เนื่องจากปริมาณน้ำมันปาล์มดิบมีน้อย และปี 2562 ปรับเพิ่มจาก B7 เป็น B10 จากภาวะอุปทานส่วนเกินของน้ำมันปาล์มดิบที่ค่อนข้างสูง)

อุตสาหกรรมอาหาร (สัดส่วน 16%) อาทิ ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีมเทียม มาการีน เนยขาว ไอศกรีม รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหาร เสริมสุขภาพประเภทวิตามิน และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรม Oleochemicals (สัดส่วนรวมกัน 3%) เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าอื่นๆ เช่น สบู่ เครื่องสำอาง และแชมพู เป็นต้น

และ 2.ใช้กลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแปรรูป น้ำมันปาล์มขั้นปลาย คิดเป็นสัดส่วน 32% ของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2561)

ปี 2562 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเผชิญภาวะอุปทานส่วนเกินต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี วิจัยกรุงศรีประเมินสต็อกน้ำมันปาล์มดิบสะสมในประเทศจะสูงถึง 6 แสนตันในช่วงสิ้นปี 2562 เพิ่มขึ้น 29% จากปี 2561 และสูงกว่าระดับ Buffer Stock ถึง 2.4 เท่า

ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้ายังมีความเป็นไปได้สูงว่าสต็อกน้ำมันปาล์มดิบสะสมในประเทศจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบโลก ขณะที่ความต้องการใช้ยังเติบโตไม่มากพอจะดูดซับอุปทานส่วนเกิน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปี 2563-2565 จะทรงตัวที่ระดับต่ำในทิศทางเดียวกับราคาในตลาดโลกเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 15-17 บาท

ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยยังเผชิญปัจจัยท้าทายหลายด้าน อาทิ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (หนึ่งในผู้บริโภคน้ำมันปาล์มหลักของโลก) ที่ดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกลดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากพืช (ซึ่งรวมถึงปาล์มน้ำมัน) ที่ปลูกในพื้นที่ที่มีคาร์บอนสูงจนเป็น “ศูนย์” ในปี 2573 ส่งผลให้เกิดกระแส “Zero Palm Oil” ในภาคขนส่งของยุโรป

และการให้ความสำคัญกับสุขภาพยังทำให้เกิดกระแส “Palm Oil Free” ในสินค้าอาหารต่างๆ ในยุโรป เนื่องจากน้ำมันปาล์มถูกมองว่าเป็นแหล่งไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) และมีสารก่อมะเร็งในปริมาณมาก เมื่อเทียบกับพืชน้ำมันอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการกีดกันจากประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ โดยเฉพาะอินเดีย ตลอดจนแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไบโอดีเซลลดลง

  

ปัจจัยข้างต้นนับเป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่ลดลงในปัจจุบันอาจไม่ได้เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่อาจเกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในระยะยาว

นอกจากนี้ประสิทธิภาพของการดำเนินงานตาม “แผนปฏิรูปปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มทั้งระบบปี 2560-2579” จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่จะชี้อนาคตของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทย