GC เผยรับชีวิตวิถีใหม่ใช้พลาสติกพุ่ง-เทรนด์รักษ์โลกยังอยู่

GC เผยรับชีวิตวิถีใหม่ใช้พลาสติกพุ่ง-เทรนด์รักษ์โลกยังอยู่

GC เผยวิกฤตโควิด-19 กลายเป็นโอกาส ตลาดพลาสติกติดเทรนด์ยอดการใช้โต และวิถีชีวิตใหม่ (New Normal ) ส่งผลต่อการใช้พลาสติกให้มีทิศทางสูงขึ้น เชื่อว่าหากมีวัคซีนรักษาได้ เทรนด์รักษ์โลกจะกลับมาเหมือนเดิม พร้อมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล

นายปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ (President) บริษัท พีทีที โกลบอล  เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC  เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านทำให้การใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single- use Plastics เพิ่มขึ้น อาทิ ถุงหูหิ้ว ขวดน้ำพลาสติก หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์ความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย ลดการแพร่กระจายเชื้อโรค

อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยคาดการณ์ว่าหลังโควิด-19 จะทำให้ปัญหาขยะพลาสติกยังคงดำรงอยู่ หากไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ดังนั้น GC ยังคงเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว จำนวน 150,000 ตันต่อปี ให้เหลือ 0 ตันต่อปี ภายใน 5 ปี เพื่อมุ่งสู่ตลาดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  และสร้างแพลทฟอร์มเพื่อเป็นโมเดลให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะพลาสติกแบบครบวงจรมากขึ้น

“ก่อนโควิด-19 เราทราบดีว่าทั่วโลกต่างมุ่งเน้นการเลิกใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง การใช้จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อโควิด-19 มา ก็ทำให้ความต้องการใช้พลาสติกพวกนี้กลับเพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันความต้องการใช้พลาสติกที่เกี่ยวข้องกับวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน" นายปฏิภาณ กล่าว

ขณะเดียวกันรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เช่น การใส่หน้ากากป้องกันหน้า (Face Shield) การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ออนไลน์ จะทำให้เกิดการใช้พลาสติกในรูปแบบบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ทั้งกล่องพลาสติก ถุงใส่อาหาร ฯลฯ ถือได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ ทำให้ผู้คนกลับมาเห็นความสำคัญของพลาสติก แม้วันนี้คนอาจจะยังไม่ได้พูดถึงปัญหาขยะพลาสติก ไม่ได้พูดเรื่องการนำพลาสติกมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล สำหรับ GC เทรนด์ในการอนุรักษ์โลกยังคงอยู่ การปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะยังคงต้องตอกย้ำอย่างต่อเนื่อง และ GC ก็ยังคงมุ่งมั่นทำตามเป้าหมายเช่นเดิม 

นอกจากนี้ GC ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ส่งเสริมให้มีการใช้เม็ดพลาสติกจากไบโอพลาสติกมากขึ้น  รวมถึงการลดปริมาณขยะในสถานที่ต่างๆ เช่น รณรงค์และส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ใช้แก้วที่เคลือบไบโอพลาสติก เพราะช่วยลดปริมาณขยะ สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นการปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และเลือกใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย

เช่น โครงการ Chula Zero Waste โครงการ Waste This Way ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์โครงการธนาคารขยะ (Think Cycle Bank) ในโรงเรียนต่างๆ ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยส่งเสริมให้เด็กแยกขยะ เห็นคุณค่าของขยะ เพราะถ้าสามารถจัดการเก็บขยะ คัดแยกขยะซึ่งเป็นปัญหาที่สุดในการกระบวนแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ ขั้นตอนอื่นๆ ก็สามารถทำได้โดยง่าย  และมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการจับมือร่วมกันเพื่อสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน GC ยังคงมุ่งเน้นการศึกษาและวิจัยแนวทางการใช้เม็ดพลาสติกให้เกิดความคุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยจะทำให้เกิดการใช้งานอย่างยาวนาน และนำกลับมาใช้ใหม่ เพิ่มมูลค่าพลาสติกด้วยการร่วมมือกับดีไซเนอร์ 10 คน และร่วมกับกลุ่มพันธมิตรที่เป็นลูกค้าของ GC 19 ราย มาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ภายใต้โครงการอัพไซคลิงอัพสไตล์ลิ่ง (Upcycling Upstyling) เพื่อสร้างสรรค์สินค้าในกลุ่มอัพไซคลิง (Upcycling) ด้วยการออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นแนวทางของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้ผลิตขั้นปลายในสายอุตสาหกรรมพลาสติก สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้กระแสรักษ์โลก 

ช่วงโควิด-19 ระบาด GC ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในการสนับสนุนพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หน้ากากป้องกันหน้า (Face Shield) และชุด PPE ที่ขาดแคลน หมวกสุญญากาศ ฉากกั้นพลาสติก เป็นต้น เพื่อช่วยป้องกันโรคและการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่นั้นผลิตมาจากพลาสติกแทบทั้งสิ้น

ส่วนบริการสั่งอาหาร มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวปริมาณมาก GC ไม่ต้องการให้เกิดปริมาณขยะที่มากจนเกินไป จึงร่วมกับ Wongnai และ LINE MAN  สนับสนุนการทำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ และไม่เป็นภาระต่อสังคมกว่า 300,000 ชิ้นให้แก่ร้านอาหารกว่า 200 ร้านในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ช่วยลดภาระร้านอาหารในการปรับตัวเพื่อทำธุรกิจ Food Delivery และส่งมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ได้มาตรฐาน ต่อผู้บริโภคกว่า 100,000 ครัวเรือน  เป็นต้น