เปิดเวทีนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

เปิดเวทีนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กสศ.จับมือภาครัฐและองค์กรด้านการศึกษาทั่วโลก จัดเวทีวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 10-11ก.ค.นี้ ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาฯ ปาฐกถาพิเศษ “สี่ ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส

ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา และที่ปรึกษา กสศ. ร่วมแถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา

นายสุภกร กล่าวว่า กสศ. ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ธนาคารโลก (World Bank) Global Partnership for Education และ Save the children UNESCO และภาคีเครือข่าย

จัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา:ปวงชนเพื่อการศึกษา(ALL FOR EDUCATION) ในวันที่10-11กรกฎาคม 2563 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีนักปฏิรูป ผู้นำด้านการศึกษา กว่า 60 คน จาก14 ประเทศร่วม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และระดมสมองหาทางออกการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในวิกฤตโควิด-19

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดและพระราชทานปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สี่ ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อย โอกาส” ในวันศุกร์ที่10กรกฎาคม 2563

“จากข้อมูลสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) แสดงให้เห็นว่ายังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่นอกระบบการศึกษา ในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน โดยเด็กจากครอบครัวที่ยากจนที่สุด มีโอกาสหลุดออกจากระบบมากกว่าเด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดถึง 5 เท่า ยิ่งมาเจอผลกระทบโควิด-19 ซ้ำเติม ทั่วโลกประเมินว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น” ผจก.กสศ. กล่าว

องค์การยูเนสโกและองค์การยูนิเซฟประเมิน ว่าวิกฤตนี้ทำให้มีเด็กเยาวชนมากกว่า 90% ทั่วโลกต้องออกจากระบบการศึกษาชั่วคราว และมีเด็กหลายล้านคนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา สำหรับไทยพบตัวเลขผู้ยากจนด้อยโอกาส4.3 ล้านคน เป็นนักเรียนยากจน1.8-2 ล้านคน เด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา 5-6 แสนคน

ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานด้านการศึกษาของเด็กยากจนด้อยโอกาสมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยตามเสด็จรัชกาลที่ 9 ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 พระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องการศึกษาของเด็กชนบทที่ด้อยโอกาส จึงมีพระราชดำริให้ทำถุงยังชีพเพื่อการศึกษาแจกจ่ายให้กับโรงเรียนตชด.300 แห่ง

โดยในถุงยังชีพประกอบด้วยอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน เช่น หนังสือแบบเรียน รูปต่อจิ๊กซอล์ ลูกบอลยาง สมุดคัดลายมือ รวมถึงเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทาน จากพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไทยและลงลึกทุกปัญหาการศึกษาจริงๆ เห็นได้จากถุงยังชีพของพระองค์ รวมถึงการให้ครูตชด.ไปสอนตามบ้านในสถานการณ์วิกฤต

“หลังสถานการณ์วิกฤต จากนี้อย่างน้อย1ปีการศึกษา เด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน คือเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะช่วงที่อยู่บ้านเวลากว่าร้อยละ60-70 เด็กไม่ได้รับการศึกษาเลย คำถามคือภาครัฐและส่วนที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหานี้อย่างไร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ พระองค์ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว พระองค์มีถุงยังชีพเพื่อการศึกษาเข้าไปช่วยในพื้นที่ที่โทรทัศน์ละอินเทอร์เน็ตเข้าไปไม่ถึง กับมีครู ตชด.เป็นตัวช่วย อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ มิฉะนั้นอีก2ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะจบด้วยการมีประชากรที่ไม่มีคุณภาพ” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

การประชุมครั้งนี้ มีผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษาจากหลากหลายวงการ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาทิ อมาตย เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อลิส อัลไบร์ท ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก หรือ Global Partnership for Education (GPE) องค์กรที่มุ่งสนับสนุนการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนามาแล้วกว่า 68 ประเทศ อันเดรียส ชไลเคอร์ ผู้ริเริ่มและอยู่เบื้องหลังการประเมินทักษะนักเรียนนานาชาติหรือ PISA ยังมี หนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาครูของภูมิภาคเอเชียจากประเทศสิงค์โปร์ นักการศึกษาชั้นนำจากฟินแลนด์ สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนฟรีเพื่อเข้าประชุมออนไลน์ได้ที่ http://afe2020.eef.or.th/thai/