รัฐ-เอกชนหนุนรฟ.ชุมชน ฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

รัฐ-เอกชนหนุนรฟ.ชุมชน  ฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐาน กำลังเป็นที่ติดตามของแวดวงพลังงานว่า จะเปิดโครงการฯได้หรือไม่ หลังล่าช้าไปจากแผนเกือบ 1 ปี แม้ว่าล่าสุด กระทรวงพลังงาน กำลังหยิบยกขึ้นมาเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น หลังโควิด-19 เริ่มคลีคลายลง

พัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และโฆษก กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้รับมอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบ 2 แห่ง ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 3 เมกะวัตต์ เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 3 เมกะวัตต์ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล เงินลงทุนรวม 753 ล้านบาท คาดว่า จะมีรายได้ตกถึงชุมชนรวมประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี ทั้งการจ้างงานในพื้นที่ ส่วนแบ่งเงินปันผล เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ซึ่งหากโครงการผ่านการอนุมัติจากภาครัฐ คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างต้นปี2564 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสิ้นปี2564 หรือ อย่างช้าไตรมาส 1 ปี2565

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้า SPP รายใหญ่ หลายรายยังแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เช่น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ที่สนใจทั้งในรูปแบบ โครงการ Quick Win และโครงการทั่วไป โดยได้ศึกษารายละเอียดต่างๆ เตรียมความพร้อมยื่นประมูลทันทีที่ภาครัฐเปิดโครงการ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด

ขณะที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC ยังได้ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ประเภททั่วไป เบื้องต้นให้ความสนใจจัดตั้งโครงการฯตามแนวท่อก๊าซฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเครือข่ายชุมชนและมีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานอยู่แล้ว ส่วนเชื้อเพลิง ก็มองทั้งประเภทชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ เชื้อเพลิงผสมผสาน(ไฮบริด) โดยยังรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐ

แหล่งข่าววงการพลังงาน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชนฯ กำลังเป็นที่ต้องการของนายทุน หรือผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีฐานวัตถุดิบอยู่แล้ว เพราะสามารถลงทุนได้ทันที และเชื่อว่าจะเกิดการแข่งขันชิงโครงการฯในแต่ละพื้นที่ แต่ที่น่ากังวลคือ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการ SPP Hybrid Firm เมื่อปี2560 ที่รัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ มีผู้ชนะการประมูล 17 ราย กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) 31 ธ.ค. 2564 ที่ปัจจุบัน มีเพียง 3 รายเท่านั้นที่สามารถลงนามสัญญา PPA ได้ ที่เหลืออีก 14 ราย ไม่สามารถลงนามได้ และยังอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

โดยผู้ประกอบการในส่วนนี้ มีแนวโน้มที่จะละทิ้งโครงการฯ และเตรียมหันไปเข้าร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนฯ แทน เพราะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 3.76-5.34 บาทต่อหน่วย เทียบกับโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ที่แข่งขันกดราคารับซื้อไฟฟ้าเหลืออยู่เพียง 2.44 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

“แม้ว่ารัฐจะพยายามตั้งกติการสกัดการแปลงรูปแบบโครงการฯอย่างไร ก็คงยาก เพราะกลุ่มนี้มีความพร้อมทางวัตถุดิบและมีศักยภาพที่จะแข่งขัน แม้จะไม่เป็นผลเสียต่อโรงไฟฟ้าชุมชนฯ แต่ก็สะท้อนถึงความผิดพลาดนโยบายรัฐในอดีตที่เปิดประมูลแข่งขันดัมฟ์ราคา ที่สุดท้ายโครงการไม่เข้าเป้า และประชาชนเสียโอกาสใช้ไฟต้นทุนถูก”

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ยืนยันว่า การคัดเลือกโครงการฯ จะมีคณะทำงานย่อยที่เข้ามาช่วยกลั่นกรองโครงการอย่างละเอียด และย้อนดูประวัติ หากพบว่าเป็นการสวมสิทธิ หรือ โครงการเดิมทำไม่สำเร็จก็ถูกตัดออกไปทันที

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ประเภท เร่งด่วน (Quick Win ) ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ กระทรวงพลังงาน คาดหวังจะเปิดรับสมัครโครงการฯใน เดือน ก.ค.2563 หากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และจะเร่งรัดพิจารณาคัดเลือกโครงการฯให้เสร็จใน 3 เดือน หรือ ประกาศโครงการฯที่ผ่านการคัดเลือกตั้งแต่ ส.ค.2563 เป็นต้นไป เพื่อให้สามารถลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า(PPA) ในเดือน พ.ย-ธ.ค.2563 และเริ่มลงทุนได้ต้นปี 64

ล่าสุด การประชุมครม.ในวันที่ 30 มิ.ย.63 ยังไม่สามารถนำแผน PDP บรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาๆได้ทัน ซึ่งกระทรวงพลังงาน จะผลักดันเข้าสู่การพิจารณาในครั้งถัดไป เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย มีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือมีเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจทันที