ผลสำรวจยอดขายบริษัทญี่ปุ่นในไทยร่วง เกินครึ่ง 'ลดลงทุน' ภาคการผลิต

ผลสำรวจยอดขายบริษัทญี่ปุ่นในไทยร่วง  เกินครึ่ง 'ลดลงทุน' ภาคการผลิต

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) รายงานผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยประจำครึ่งปีแรก 2563 โดยส่งแบบสำรวจให้บริษัทสมาชิก JCCB รวม 1,733 ราย มีบริษัทตอบกลับ 631 ราย (36.4%) ในประเด็นผลกระทบจากโรคโควิด-19

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยว่า ผลสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) ในประเด็นผลกระทบต่อผลประกอบการ โดยมีบริษัทได้รับผลกระทบเชิงลบต่อยอดขายตั้งแต่ 20% ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 50% มีผู้ตอบมากที่สุดถึง 48% 

รองลงมาได้รับผลกระทบยอดขาย 5% ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 20% มีจำนวน 27% และส่งผลกระทบต่อยอดขาย 50% ขึ้นไป มีจำนวน 9% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยผลกระทบส่วนใหญ่มาจากยอดขายลดลงจากการชะลอตัวของการปริโภคภายในประเทศไทย 77% รองลงมากเกิดจากการสูญเสียโอกาสในการเจรจาธุรกิจ 68% และจากอุปสรรคจากข้อจำกัดการเข้าเมือง 65%

ในขณะที่การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักร (อุตสาหกรรมการผลิต) พบว่า มีผู้ลงทุนเพิ่ม 21% มีผู้ลงทุนคงที่ 16% มีผู้ลงทุนลดลง 53% และยังไม่ตัดสินใจ 9%

ส่วนผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อกิจกรรมทางธุรกิจในอนาคต บริษัทส่วนใหญ่คาดว่าจะประกอบกิจการต่อไปหรือขยายขนาดกิจการสูงถึง 60% รองลงมาระบุว่ายังไม่แน่ใจ 34% ซึ่งจะต้องจับตาว่ากลุ่มนี้จะตัดสินใจอย่างไรในอนาคต และบริษัทที่ตอบว่าจะลดขนาดกิจการมีเพียง 7% ซึ่งสอดคล้องกับคำถามถึงการลงทุนในสินค้าทุนในอนาคต ผู้ตอบแบบสอบถาม 57% ยังคงสภาวะปัจจุบัน ยังไม่มีแผน 29% ขยายการลงทุน 14%

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลิตและระบบโลจิสติกส์ทำให้เกิดการชะงักทั่วโลก และการระบาดในหลายภูมิภาคในเวลาที่ต่างกัน ทำให้บริหารจัดการซัพพลายเชนได้ยาก ดังนั้นต้องกลับมาบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยขยายการลงทุนเข้าไปในประเทศที่มีความพร้อมด้านซัพพลายเชน เพราะหากไปลงทุนในประเทศที่ไม่พร้อมด้านซัพพลายเชนจะเกิดความยุ่งยากในการนำเข้าชิ้นส่วน เพราะไม่สามารถจัดหาภายในประเทศได้

159352447675

ดังนั้น การที่ไทยมีความพร้อมในซัพพลายเชนสูงมาก จึงได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่น เพราะบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมายาวนาน ทำให้จัดซื้อชิ้นส่วนและอุปรณ์จากผู้ผลิตภายในประเทศได้สะดวกและมีความหลากหลาย ทำให้บริษัทใหม่ที่เข้ามาลงทุนมีความสะดวกที่จะผลิตในไทย

ในปีที่ผ่านมาก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้สำรวจบริษัทที่ลงทุนในจีน พบว่ามีถึง 10% ที่ตั้งใจจะย้านฐานการผลิตมาไทย และในขณะนี้มีบริษัทในญี่ปุ่น และนอกประเทศญี่ปุ่นหลายรายสอบถามที่สำนักงานเจโทรกรุงเทพฯ ถึงลู่ทางการเข้าตั้งฐานการผลิตในไทย เนื่องจากหลังโควิด-19 จะมีการทบทวนการผลิตซัพพลายเชนมากขึ้น

ประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ เวียดนาม เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า ซึ่งเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้ดึงดูดซัพพลายเชนเข้าไปตั้งโรงงานในเวียดนามเพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตจะทำให้เกิดการพัฒนาซัพพลายเชนในเวียดนามเพิ่มขึ้นมาก 

“รัฐบาลไทยต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุน ซึ่งจากการพูดคุยกับรัฐบาลไทยก็ได้เร่งดำเนินการปรับปรุบในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว หากไทยเพิ่มเติมในสิ่งที่กล่าวมานี้ได้ ก็จะทำให้เสริมจุดแข็งเดิมด้านซัพพลายเชนของไทย ให้มีความโดดเด่นในการเป็นฐานการลงทุนมากขึ้น”

ส่วนดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (ดีไอ) ครึ่งปีแรกของปี 2563 ปรับตัวมาอยู่ที่ -69 (ตัวเลขคาดการณ์) และ -44 ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2563 (ตัวเลขคาดการณ์) ซึ่งเป็นค่าดัชนีดีไอที่ติดลบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 นับตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 2514 ซึ่งรองจากค่าดัชนีดีไอ ของปี 2528 ที่เกิดปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ดัชนีดีไอ ในทุกประเภทอุตสาหกรรมติดลบ แต่ดัชนีดีไอ มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 2563 ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบจากโควิด-19 ได้ 

สำหรับการส่งออกช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 มีบริษัทญี่ปุ่นในไทย มองว่าจะเพิ่มขึ้น มีสัดส่วน 16% มองว่าจะส่งออกคงที่ 31% และมองว่าการส่งออกจะลดลงสูงถึง 53% โดยตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในอนาคต บริษัทที่ตอบแบบสอบถามมองว่าอันดับ 1 เวียดนาม (49% ) อันดับ 2 อินเดีย (29%) อันดับ 3 อินโดนีเซีย (27%) และอันดับ 4 เมียนมา

ในขณะที่ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลมีแผนส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 57% เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมาต้องการให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการป้องกันโควิด 42% และต้องการให้การปรับปรุงระบบศุลกากร 39%