รู้ก่อน 'เปิดเทอม' ข้อปฏิบัติช่วงโควิดตามมาตรการ ศธ. ทำยังไง?

รู้ก่อน 'เปิดเทอม' ข้อปฏิบัติช่วงโควิดตามมาตรการ ศธ. ทำยังไง?

ส่องมาตรการรับมือช่วง "เปิดเทอม" ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตามแนวทาง “โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข (Back to Healthy School)” มีอะไรบ้าง?

โรงเรียนในประเทศไทยกลับมา "เปิดเทอม" อีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดการเรียนการสอนเป็นระยะเวลาเกือบสี่เดือน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ทดลองระบบ "เรียนออนไลน์"  ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อหาจุดบกพร่องและเตรียมพร้อมระบบเรียนทางไกลที่อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งระบบการศึกษาในอนาคต 

วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 คือวัน  "เปิดเทอม" วันแรก นักเรียนทุกระดับชั้นจะได้กลับไปเรียนในโรงเรียนโดยมีมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด โควิด-19 จากกระทรวงศึกษาธิการอย่างใกล้ชิด 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมมาตรการ New Normal สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนยุคโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับใช้รับมือช่วง "เปิดเทอม" ครั้งนี้ ตามแนวทาง “โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข (Back to Healthy School)” มาเช็คลิสต์กันว่ามีข้อปฏิบัติอะไรบ้าง?

159352095961

  • เรียนชดเชยให้ครบ 200 วัน 

การเลื่อนเปิดเทอมจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ระยะเวลาการเรียนจากเดิม 200 วัน ลดลงเหลือเพียง 180 วัน ทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีการชดเชยเวลาเรียนที่ขาดไป 20 วัน ด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่โรงเรียนมีอิสระกำหนดได้เอง เช่น เรียนวันเสาร์อาทิตย์ เรียนตอนเย็น เรียนออนไลน์ เป็นต้น 

สำหรับช่วงการเปิด-ปิดภาคเรียน ได้มีการกำหนดใหม่ ได้แก่

- ภาคเรียนที่ 1 จากเดิม 16 พ.ค. - 10 ต.ค เปลี่ยนเป็น 1 ก.ค. - 14 พ.ย.

- ภาคเรียนที่ 2 จากเดิม 1 พ.ย. - 31 มี.ค.  เปลี่ยนเป็น  1 ธ.ค. - 10 เม.ย.

159352100268

  • ต้องได้มาตรฐาน 20 ข้อ ของกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับมาตรการในการเปิดเรียน กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ออกคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งแบ่งเป็น 6 มิติด้วยกัน

มิติที่ 1 ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อ มีจำนวน 20 ข้อ ในมิตินี้สถานศึกษาทุกแห่งต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน 20 ข้อ ตามมาตรการที่กำหนดโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งได้รับคู่มือนี้ไปเตรียมการประเมินแล้ว

ส่วนอีก 5 มิติที่เหลือ จำนวน 24 ข้อ ก็จะเป็นมิติในการเรียนรู้ ครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส สวัสดิภาพและการคุ้มครอง  นโยบาย  และมิติการบริหารการเงิน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการในการเปิดภาคเรียน โดยที่สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องผ่านการประเมินนี้ก่อน จึงจะสามารถเปิดเรียนได้ ซึ่งขณะนี้สถานศึกษากว่าร้อยละ 90 มีความพร้อมผ่านการประเมินแล้ว

  • เตรียมจุดคัดกรองก่อนเข้าชั้นเรียน 

สำหรับแนวปฏิบัติของสถานศึกษาระหว่างเปิดภาคเรียน จะต้องมีการคัดกรองสุขภาพของนักเรียน ซึ่งโรงเรียนต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่จุดรับ-ส่งนักเรียน เพื่อจะได้ดูว่านักเรียนมีอาการป่วยหรือไม่  อีกทั้งให้ครูและนักเรียนทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดสถานที่ล้างมือหรือแอลกอฮอล์เจล

  • ห้องเรียนนั่งห่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร 

สถานศึกษาทุกสังกัด ทุกระดับ จะต้องมีการปรับปรุงห้องเรียน ด้วยการจัดโต๊ะที่นั่งเรียน ให้เว้นระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร และต้องปรับปรุงพื้นที่อื่นๆ ในโรงเรียน อาทิ โรงอาหารที่ต้องเว้นระยะห่างบุคคลไม่ต่ำกว่า 2 เมตร และต้องมีการทำความสะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสุขาและจุดสัมผัสต่างๆ  ที่สำคัญต้องงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความแออัด เช่น งานกีฬาสี  เป็นต้น

สำหรับเด็กเล็กให้เว้นระยะห่างการนอน 1.5 เมตร และให้หันเท้าชนกัน เพื่อให้ศีรษะห่างกัน โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในการนอน ส่วนการรับประทานอาหารกลางวันให้ผลัดกันทานอาหาร อาจจะแบ่งเป็น 3-4 ผลัดๆ ละ 30 นาที

159352105281

  • บางโรงเรียนอาจต้องสลับวันมาเรียน

มาตรการต่อมาคือ การจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้อง โดยในส่วนของโรงเรียนประถมศึกษานั้น จำนวนนักเรียนต่อห้องจะต้องไม่เกิน 20 คนต่อห้อง ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาจะต้องไม่เกิน 25 คนต่อห้อง 

ปัจจุบันสถานศึกษาทุกสังกัดทั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ และสถานศึกษาอาชีวศึกษา ที่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ โดยไม่ต้องสลับวันมาเรียน มีจำนวนกว่า 31,000 โรงเรียน

ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมาก ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ หรือไม่สามารถให้นักเรียนทุกคนมาเรียนพร้อมกันได้ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,500 โรงเรียน ก็ต้องใช้วิธีสลับกันมาเรียน 

ทั้งนี้หากโรงเรียนไหนที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องเกินกว่าที่กำหนด สพฐ.ได้เสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เช่น การสลับชั้น จันทร์/พุธ/ศุกร์ หรือ อังคาร/พฤหัสบดี, สลับชั้นวันคู่วันคี่, สลับกลุ่มแบ่งนักเรียนในห้องเรียนเป็น 2 กลุ่ม หรือรูปแบบอื่นๆ 

  • รถโรงเรียนต้องนั่งเว้นระยะห่าง

สำหรับรถโรงเรียนที่ ศธดูแล หรือที่โรงเรียนเป็นเจ้าของ ต้องจัดที่นั่งเว้นระยะห่างกัน และนักเรียนผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และจากเดิมในช่วงก่อนโควิดระบาดอาจจะเคยใช้รถคันเดียว แต่เมื่อปรับใหม่ New normal ให้มีการนั่งเว้นระยะห่างกันอาจจะต้องเพิ่มจำนวนรถมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม กรณีนี้กระทรวงศึกษาฯ ก็ได้จัดสรรงบประมาณให้ทางโรงเรียนจัดหารถรับส่งนักเรียนเพิ่มเติมแล้ว แต่หากสลับวันมาเรียนได้โดยใช้รถเท่าเดิมก็อาจจะไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม

  • โรงเรียนปิด 3 วันเมื่อพบผู้เสี่ยง

หากพบนักเรียนหรือครูที่ต้องสงสัย หรือมีเกณฑ์ติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ภายในโรงเรียน กระทรวงศึกษาฯ ก็จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยต้องคัดแยกผู้มีอาการออกไปจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที

ในระหว่างรอผลตรวจ ยังให้มีการเรียนการสอนได้ปกติ กรณีตรวจไม่พบโควิด-19 ก็สามารถกลับมาเรียนได้ตามปกติ แต่หากตรวจพบโควิด-19 นักเรียนหรือครูคนนั้นๆ และผู้ใกล้ชิดต้องถูกกักตัว 14 วัน และโรงเรียนต้องปิด 3 วัน เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

ทั้งนี้โรงเรียนควรมีการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะ” (แต่หากเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก ครูจะต้องจดข้อมูลบันทึกเอาไว้) เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบย้อนหลังได้ ในกรณีที่มีการพบผู้ติดเชื้อ

159352109429

  • กรณีนักเรียนชายขอบ

กรณีโรงเรียนชายขอบที่มีนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามเข้ามาเรียนไป-กลับทุกวัน ช่วงนี้จะยังไม่อนุญาตให้ข้ามมาเรียน จนกว่าจะมีประกาศผ่อนปรนจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) หรือหากจะข้ามมาเรียน ก็ต้องกักตัวใน State Quarantine 14 วัน ก่อนเรียน

แต่เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างเต็มรูปแบบ กระทรวงศึกษาฯ ได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ไว้แล้ว โดยอาจให้ครูส่งและเก็บใบงานทุกวัน และใช้การเรียนการสอนผ่านทาง DLTV เช่นเดิม

-----------------------

อ้างอิง :   https://www.moe.go.th