ครม.อนุมัติแบงค์เฉพาะกิจรัฐ ลดส่งเงินเข้า“กองทุนพัฒนาฯ”

ครม.อนุมัติแบงค์เฉพาะกิจรัฐ  ลดส่งเงินเข้า“กองทุนพัฒนาฯ”

ครม.อนุมัติร่างประกาศลดอัตราเงินนำส่งกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง จาก 0.25% ต่อปี เหลือ 0.125% ต่อปีหวังลดภาระแบงค์รัฐเฉพาะกิจ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) วานนี้ (30 มิ.ย.)มีมติเห็นชอบหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2563 เพื่อให้ลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฯสำหรับธนาคารเฉพาะกิจรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) และธนาคารอิสลามฯ

โดยลดจากเดิมที่ธนาคารต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯในอัตรา 0.25% และกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราดังต่อไปนี้ 1.ในอัตรา  0.125%  ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับการนำส่งเงินในปี 2563 – 2564 จากนั้นในปี 2565 ให้กลับมาส่งในอัตรา 0.25% ซึ่งเป็นอัตราเดิมก่อนการปรับลดส่วนการส่งเงินเข้ากองทุนที่ปรับลดตามมติ ครม.นี้

สำหรับการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 24 ม.ค. พ.ศ. 2560 กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตรา 0.25% ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 15 แห่งพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2558 ที่บัญญัติให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธอส. และ ธนาคารอิสลามมีหน้าที่ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนตามอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ต้องไม่เกิน 1% ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน และต่อมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดอัตราเงินนำส่งฯ0.25% ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน

ทั้งนี้เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19  ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการดำเนินมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดได้อย่างเต็มที่ จึงสมควรปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลงกึ่งหนึ่งให้กับธนาคารพาณิชย์ เป็นเวลา 2 ปี สำหรับการนำส่งเงินในรอบปี 2563 – 2564