หน้าผาและเหว เศรษฐกิจไทย

หน้าผาและเหว เศรษฐกิจไทย

"เศรษฐกิจไทย" จะพบหน้าผาและเหวลึก หลังจากผ่านพ้นมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ทุกอย่างคือความจริงหน้าใหม่ ความจริงที่ยืนอยู่บนทางแพร่งระหว่างทางรอดและวิกฤติ และจะวัดฝีมือการบริหารของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายดูแลครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง

เราต้องยอมรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยนับจากวันนี้ มีทิศทางที่ไม่ดีนัก ทั้งโลกต้องเผชิญความเปราะบาง ตลาดไม่มีกำลังซื้อ การลงทุนนิ่งสงบ นักท่องเที่ยวเงียบเหงา ตามมาตรการปิดประเทศ ไม่ต้องพูดถึงการส่งออก ที่เป็นเส้นเลือดหลักเศรษฐกิจไทย สิ้นเดือน พ.ค.ดิ่งเหวติดลบไป 29% หนี้ครัวเรือนเพิ่มอย่างน่าวิตก

หนี้เสียของสถาบันการเงินยังไม่โชว์ออกมา เพราะถูกแช่แข็งตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล แต่สิ้นเดือน ก.ย.เมื่อถูกเปิดตู้เย็นออกมา ครบพักหนี้ 6 เดือน ทุกอย่างคือความจริงหน้าใหม่ ความจริงที่ยืนอยู่บนทางแพร่งระหว่างทางรอดและวิกฤติ เพราะถึงเวลานั้น คือหน้าผาและเหวลึกของเศรษฐกิจไทยที่จะวัดฝีมือการบริหารของรัฐบาล รัฐบาลที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ รัฐบาลที่ยึดความเดือนร้อนของประชาชน เป็นหน้าที่

เพราะเมื่อมองย้อนไปที่มุมมองเวิลด์แบงก์ ที่ได้ออกมาประเมินเศรษฐกิจไทย ว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 โดยเวิลด์แบงก์คาดการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลของประเทศหรือจีดีพี ปีนี้อาจหดตัวกว่า 5% และน่าจะใช้เวลามากกว่าสองปีกว่าที่จะกลับสู่ระดับจีดีพีก่อนที่จะประสบปัญหาโควิด-19

การส่งออกคาดหดตัวประมาณ 6.3% ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงรายไตรมาสที่แรงที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยในต่างประเทศยังคงอ่อนแอ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะลดลง 3.2% เนื่องจากมาตรการห้ามการเดินทางและรายได้ที่ลดลง ซึ่งจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะในไตรมาส 2/2563 ประกอบกับมีคนตกงานกระจายไปทั่วและกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลางไปถึงครัวเรือนที่ยากจน ภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพีได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ไทยเกือบจะห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศตั้งแต่เดือนมี.ค.2563

ที่น่าสนใจ เราจะรอดจากปากเหวและหน้าผาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายในการรับมือวิกฤติที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการนโยบายที่ดูแลครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวมากที่สุด 

ซึ่งรายงานฉบับนี้เวิลด์แบงก์เสนอว่า ควรขยายความคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มผู้สูงอายุและแรงงานข้ามชาติไม่ได้ถูกมองข้าม ทั้งยังควรให้เงินอุดหนุนแก่กลุ่มที่เปราะบางต่อไป และถ้าเป็นไปได้ควรพยายามเชื่อมโยงการให้เงินอุดหนุนไปกับการฝึกอบรม การให้คำแนะนำและความสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้  

ดังนั้น สถานการณ์เป็นแบบนี้ ฝั่งการเมือง ต้องคิดคำนึงถึงประโยชน์ส่วนร่วม มากกว่าที่จะหวังแค่ความสุขส่วนตน อยากให้นักการเมืองไทยจดจำปรัชญาจีนอยู่ประโยคหนึ่งที่ “สีจิ้นผิง”มักเอ่ยถึง “ทุกข์กังวลกว่าผู้ใดในใต้ฟ้า สุขหรรษาหลังประชาสุขเกษม”