‘ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ’ เจาะลึกกองทุน 'โควิด-19' เพื่อเยียวยาคนบันเทิง

‘ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ’ เจาะลึกกองทุน 'โควิด-19' เพื่อเยียวยาคนบันเทิง

ตอบชัดทุกประเด็น ‘กองทุนเยียวยาโควิด-19 สำหรับลูกจ้างอิสระในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์’ มีที่มาอย่างไร และช่วยเหลือใครบ้าง

อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) การที่ ‘สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ’ จับมือกับ ‘เน็ตฟลิกซ์’ เปิดกองทุนเยียวยาอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ จำนวน 16 ล้านบาท (5 แสนเหรียญสหรัฐฯ) ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เปรียบได้ดั่งแสงสว่างที่มาช่วยต่อลมหายใจคนในวงการนี้ได้ไปอีกเฮือกหนึ่ง

‘จุดประกาย’ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ‘ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ’ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ถึงที่มาที่ไปของ กองทุนเยียวยาโควิด-19 สำหรับลูกจ้างอิสระในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ตลอดจนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ

กองทุนนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การถ่ายทำภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ต้องหยุดชะงักลงเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน คนที่ทำงานอยู่ในวงการนี้ส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์ (ลูกจ้างอิสระ) จึงไม่มีรายได้ แม้บางคนจะเคลมเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ แต่บางคนก็เคลมไม่ได้ ในส่วนของสมาพันธ์ฯ ก็อยากจะช่วยอยู่แล้ว ติดตรงที่เราไม่มีความสามารถที่จะช่วยได้ จนกระทั่งเน็ตฟลิกซ์ติดต่อมา ซึ่งก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดียิ่งที่เน็ตฟลิกซ์ได้คิดในเชิงของ CSR ให้ความช่วยเหลือในประเทศที่มีโปรดักชั่นอยู่ โดยมีเงินกองทุนให้ก้อนหนึ่ง

เราประชุมกันทาง Zoom ร่วมสิบครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเพิ่งเริ่มแจกเงินเยียวยา 5,000 แรก ผมประชุมกับคุณดาเรน (Darren Ong ผู้ดำรงตำแหน่ง Public Policy Manager, APAC ของ Netflix) เริ่มต้นจากวิธีการให้ความช่วยเหลือว่าจะทำยังไง และจะให้ใคร มีการประชุมกันถึง 3 รอบจนได้ข้อสรุปว่าจะช่วยเหลือ ‘กลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุด โดยไม่เลือกปฏิบัติ’

เงื่อนไขอันที่ 1 คือ คนกลุ่มนี้คือใคร เงื่อนไขอันที่ 2 คือ แล้วจะช่วยเท่าไรจึงจะพอ (เท่าไรทั้งจำนวนเงิน และเท่าไรทั้งจำนวนคน) จนได้ข้อสรุปว่า จะช่วยเหลือทุกคนที่เป็นฟรีแลนซ์ที่อยู่ในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ที่เป็นโปรดักชั่นอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าเจ้าของโปรดักชั่นจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็ตาม แต่คนรับเงินช่วยเหลือจะต้องเป็นคนไทย หรือมีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในประเทศไทย

ส่วนจะกระจายไปยังกลุ่มอาชีพอะไรบ้างนั้น เน็ตฟลิกซ์มีลิสต์ครอบคลุมอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงผู้ที่ทำงานในกองถ่ายโดยตรง และผู้ที่ทำงานในขั้นโพสต์โปรดักชั่นด้วย

ให้ความช่วยเหลือกี่คน เป็นจำนวนเงินเท่าไร

ส่วนประเด็นที่ว่าจะให้เงินเยียวยาเท่าไรและให้กี่คน ตอนแรกมีแนวคิดว่าให้นำจำนวนผู้เดือดร้อนที่ยื่นใบสมัครเข้ามาภายในเวลาที่กำหนดทั้งหมด มาหารกับจำนวนเงินช่วยเหลือที่ได้มา แต่ปัญหาก็คือถ้าคนมันเยอะแล้วช่วยได้มากที่สุดแค่คนละสามสี่พัน เน็ตฟลิกซ์มีความรู้สึกว่าอยากช่วยให้เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า ซึ่งผมเห็นด้วย จึงตกลงกันว่าจะช่วยที่ 15,000 บาท เพราะรัฐบาลให้ 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท ก็หมื่นห้าเหมือนกัน

เมื่อสรุปความช่วยเหลือที่ 15,000 บาทได้แล้ว ตัวเลขผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือก็เป็นจำนวน 1,000 คน

ผู้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ

เราตัดสินใจกันว่าไม่มีการตั้งเกณฑ์ว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจะต้องมีรายได้เท่าไร เพราะถามไปก็อาจไม่ได้รับคำตอบที่เป็นความจริงอยู่ดี ไม่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่จำเป็นต้องจริงแน่นอนก็คือต้องรู้ว่าโปรดักชั่นที่เขาทำอยู่ถูกยกเลิกหรืองดไปเพราะโควิดจริงๆ และต้องมีคนรับรอง

เพราะฉะนั้น คนที่ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือจะต้องมีบริษัทผู้ว่าจ้างรับรองมา ซึ่งอันนี้เราต้องการเป็นหนังสือรับรอง มีตราประทับจากบริษัท ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

แล้วเพื่อให้แน่ใจว่าเขามีตัวตนจริง จึงนำไปสู่รายละเอียดหลายอย่าง ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครต้องทำยังไง การมารับเงินทำยังไง ทำไมเราไม่โอนเข้าบัญชี เพราะไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า จึงต้องให้มารับแคชเชียร์เช็คด้วยตัวเองแบบมีโซเชียล ดิสแทนซิง

เรามีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน ว่าเน็ตฟลิกซ์กับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติทำโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างอิสระในวงการละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ในประเทศไทย ประกาศเงื่อนไขต่าง ๆ แล้วบอกว่าจะเปิดรับสมัครในวันที่ 11 มิถุนายน ให้เวลา 1 สัปดาห์ในการเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ พอคนสมัครเข้ามาเราก็ตัดที่หนึ่งพันคน คือ first come, first served ครับ

159350715873

ขั้นตอนการรับเงินช่วยเหลือ

เมื่อได้ครบหนึ่งพันคนเราก็มีกระบวนการให้มารับ จัดคิวให้มารับ 4 วันด้วยกัน คือระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2563 โดยเรายืนยันว่าต้องมารับด้วยตัวเอง มอบอำนาจไม่ได้ แต่ถ้ามาไม่ได้ในช่วง 4 วันนี้ แจ้งมาได้ เราพยายามทำทุกอย่างที่เอื้อเฟื้อให้เขาได้

สำหรับสัดส่วนของคนที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นครึ่งต่อครึ่ง คือ ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์อยู่ในวงการละคร และ 45 เปอร์เซ็นต์อยู่ในวงการภาพยนตร์ อยู่ในกองถ่าย 900 กว่าคน ในส่วนของโพสต์โปรดักชั่นราว 60-70 คน

การรับเงินช่วยเหลือก็เปิดตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น เป็นเวลา 4 วัน เพื่อเป็นไปตามหลักโซเชียลดิสแทนซิงก็จะมีการจัดให้รับรอบละ 30 คน แบ่งเป็นเคาน์เตอร์ละ 10 คน ทำทุกอย่าง ๆ ปลอดภัย ไม่มีการสัมผัสมือกันใด ๆ ทั้งสิ้น

คนที่มารับมีหลากหลายที่มา เราได้ลองสัมภาษณ์ดู มีคุณยายอายุ 88 เป็นแม่ครัวกองถ่ายละครของแกรมมี่ ตั้งแต่หยุดโควิดมาไม่มีรายได้ใด ๆ เลยทั้งสิ้น เราก็ดีใจที่ได้ช่วยคุณยาย

คนอีกกลุ่มที่เราพบว่าเขาเดือดร้อนมากจริง ๆ คือ ลูกจ้างกองถ่ายต่างประเทศ ในขณะที่กองถ่ายไทยเริ่มได้แล้วทั้งละครและภาพยนตร์ แต่กองถ่ายต่างประเทศยังไม่รู้ว่าจะเริ่มได้เมื่อไรเลย ซึ่งเขาจะเดือดร้อนไปอีกนาน ซึ่งเงินหมื่นห้าที่ได้ไปก็ยังช่วยได้บ้าง เล็กน้อยก็ยังดี

เพราะฉะนั้นโครงการนี้ถึงแม้ว่าจะช่วยคนได้เพียงหนึ่งพันคน ซึ่งจริง ๆ แล้วมีคนที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่านี้ แต่เราก็คงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ เราจึงพยายามทำให้แฟร์ที่สุด ครอบคลุมมากที่สุด และคิดอุดช่องโหว่ทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้ แต่เราก็เชื่อว่าได้ช่วยเป็นประโยชน์ให้กับคนในวงการภาพยนตร์และวงการละครโทรทัศน์ไทยหนึ่งพันคนได้มีกำลังใจ

ความรู้สึกหลังได้พบผู้ที่มารับความช่วยเหลือ

รู้สึกดีใจแทนสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ดีใจแทนเน็ตฟลิกซ์ครับที่ได้ช่วยเหลือคนที่เค้าจริง ๆ จะว่าไปก็หันซ้ายหันขวาไม่เจออะไรเหมือนกันในช่วงนี้ อย่างคุณยายนี่ชัดเจน แกดีใจมากแล้วมาบอกว่าอยากทานอะไรบอกเลยนะ ยายจะทำให้

ดีใจครับ ผมบอกเด็ก ๆ ทั้งที่เป็นสตาฟฟ์ของเรา และที่เราจ้างมาเพิ่ม ทุกคนทำงานหนักมาก จัดระบบระเบียบกันดีมาก ตั้งแต่เช้ามายังไม่มีปัญหาอะไรเลย ทุกคนรอแป๊ปเดียว จ่ายเช็คคนละไม่เกิน 2 นาทีจบ บอกทุกคนว่า “ทุกคนได้บุญด้วยกันนะ”

159350718039

หลังจากนี้จะมีความช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมไหม

ในส่วนของบุคลากรเราคงทำอะไรเพิ่มเติมไม่ได้ เพราะว่าเราไม่มีสตางค์ ทางสมาพันธ์ฯ เราก็อยู่กันด้วยอาสาสมัคร สมัครใจกันทั้งสิ้น ผมก็ไม่ได้เงินเดือนเงินดาวน์อะไร แต่ท่านสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานสมาพันธ์ฯ และพวกเรา 4-5 คนได้ไปคุยกับท่านอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มาแล้ว เราอยากทำหลายอย่างที่จะเยียวยา โดยเฉพาะการจะปลุกภาพยนตร์ไทยให้กลับมา โดยใช้โอกาสนี้เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะช่วยอะไรได้มากขึ้น

เรายื่นข้อเสนอไปหลายข้อ ทั้งในส่วนที่ช่วยภาพยนตร์ไทยโดยตรง และในส่วนที่ช่วยโรงภาพยนตร์ เพราะเราตระหนักว่าโรงภาพยนตร์เดือดร้อนมาก แล้วรายได้จากโรงภาพยนตร์ จากหนังไทยก็น้อยตามไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาหนังไทยที่เข้าโรงก็ไม่ได้มีรายได้ดี แล้วยิ่งคนดูจะน้อยลงมันก็ยิ่งทำให้รายได้ของหนังไทยในโรงภาพยนตร์หดตัวลง เราก็ยื่นข้อเสนอไป 4-5 ข้อ ให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และโรงภาพยนตร์ แต่ผมขออนุญาตไม่เล่าเพราะต้องมีการคุยรายละเอียดกันอีกหลายเรื่อง

อีกเรื่องที่เราเสนอไปด้วยก็คือน่าจะมีการทำ “ภาพยนตร์สั้น” เพื่อนำเงินเข้าไปหมุนในวงการ ซึ่งอันนี้ผมเข้าใจว่ากระทรวงวัฒนธรรมอยากทำอยู่แล้ว

ทำภาพยนตร์สั้นจากทุกภูมิภาคของประเทศที่จะแสดงถึงสังคมเอื้ออาทรในยามโควิด และหลังโควิด เป็นการเตือนใจเราตลอดเวลาว่าที่เรารอดมาได้เพราะเป็นสังคมเอื้ออาทร เป็นสังคมที่ช่วยเหลือกัน เป็นสังคมที่มี อสม. ยอมลงไปหาชาวบ้านที่หมู่บ้านต่าง ๆ ด้วยความสมัครใจลงไปช่วยกันทั้งสิ้น

แต่ละคน ในแต่ละภูมิภาคก็มีประสบการณ์ ทั้งนิสิตนักศึกษา ทั้งประชาชนที่สนใจงานภาพยนตร์ ก็น่าจะทำภาพยนตร์พวกนี้มาเผยแพร่ให้ได้มากที่สุด ใช้สื่อภาพยนตร์เป็นตัวเตือนใจว่า สังคมไทยมีต้นทุนอย่างไรที่จะต่อสู้ในยามที่เรามีวิกฤติต่อไปในอนาคต