ปลัดสธ.กำชับรพ.รับบริจาคได้ 3 กรณี ห้ามหารายได้จากบริษัทยา

ปลัดสธ.กำชับรพ.รับบริจาคได้ 3 กรณี ห้ามหารายได้จากบริษัทยา

ปลัดสธ.ลงนามหนังสือ การรับเงินบริจาคจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการของรพ. ไฟเขียวรับบริจาคได้ใน 3 กรณี กำชับห้ามหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยา

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ลงนามในหนังสือ ที่ สธ 0202/ว416 เรื่อง การรับเงินบริจาคจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการของโรงพยาบาล โดยส่งถึงอธิบดีทุกกรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปทุกแห่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง สาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาระเบียบเกี่ยวกับการรับบริจาคเงินของโรงพยาบาลในสังกัด กระทรวงสาธารณสุขแล้วมีดังนี้ 1.โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถรับบริจาคเงินเข้ากองทุนสวัสดิการของโรงพยาบาลได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 และระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ส่วนราชการจัดตั้งกองทุนสำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาเรียกว่ากองทุนสวัสดิการของส่วนราชการหรือโรงพยาบาล

2.การรับบริจาคเงินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วย เงินบํารุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้เงินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่หน่วยบริการ โดยระบุวัตถุประสงค์ หรือไม่ระบุวัตถุประสงค์ หรือระบุวัตถุประสงค์ไม่ชัดแจ้ง รวมถึงดอกผลของเงินดังกล่าวเป็นเงินบำรุงของหน่วยบริการ ซึ่งในการรับบริจาคจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเงินบริจาคและทรัพย์สินบริจาคของหน่วยบริการ พ.ศ. 2561 จะต้องเป็นการบริจาคด้วยความสมัครใจ และไม่เป็นไป เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือมีเงื่อนไขผูกพันที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใด ต้องคำนึงถึงประโยชน์และภาระที่เกิดขึ้นกับหน่วยบริการทั้งในปัจจุบันและอนาคต และห้ามรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคระบุเงื่อนไขของการบริจาค อันเป็นภาระหรือข้อเรียกร้องแก่หน่วยบริการ

3.การรับเงินที่มีผู้นำมามอบให้กับโรงพยาบาลตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐพ.ศ 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้ส่วนราชการมีสิทธิ์เก็บเงินหรือทรัพย์สิน เรียกว่าการเรี่ยไร แต่โรงพยาบาลจะทำการเรี่ยรายได้ก็ต่อเมื่อจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบดังกล่าว โดยจะต้องจัดทำโครงการระบุวัตถุประสงค์ของการเรี่ยไรไว้ชัดเจนเสนอหัวหน้าหน่วยงานพิจารณาเห็นชอบให้มีการเรี่ยไรตามลำดับ และเมื่อคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพิจารณาอนุมัติให้ทำการเรียบร้อยแล้วจึงจะดำเนินการเรี่ยรายได้ โดยโรงพยาบาลจะต้องทำหลักฐานการรับเงินหรือทรัพย์สิน ให้แก่ผู้บริจาคจะต้องจัดทำบัญชีการรับเงินและทรัพย์สินจะต้องรายงานการเงินและบัญชีการรับจ่ายเงินให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ภายใน 30 วัน นับแต่จัดทำบัญชีรับจ่ายเสร็จ ให้จัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับการเรี่ยไร ประกาศเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปทราบ ในการนำเงินที่ได้รับบริจาคไปก่อหนี้ จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการและจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัด

ดังนั้น ทั้ง 3 กรณีเป็นการรับบริจาคเงินของโรงพยาบาลที่ระเบียบกำหนดให้สามารถทำได้ กรณีที่ 1 เป็นการรับบริจาคเงินที่มีผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคเข้ากองทุนสวัสดิการของโรงพยาบาล กรณีที่ 2 เป็นการรับบริจาคที่มีผู้บริจาคให้กับโรงพยาบาล กรณีที่ 3 เป็นการรับบริจาคตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่โรงพยาบาลดำเนินการจัดให้มีการเรี่ยไรขึ้น ซึ่งทั้ง 3 กรณีดังกล่าวมีระเบียบกำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้ชัดเจน โดยการดำเนินการจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จะต้องบริจาคด้วยความสมัครใจ ไม่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีภาระผูกพัน หรือข้อเรียกร้องใดแก่โรงพยาบาล

อีกทั้ง การดำเนินการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วย เมื่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ได้เห็นชอบมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิ์สวัสดิการการรักษาพยาบาลของราชการตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ และกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล รวมถึงการให้เงินแก่โรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐหรือกองทุนอื่นใด เพื่อมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับการจัดซื้อจัดจ้าง โรงพยาบาลจะต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวด้วย

จึงขอให้แจ้งหน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป