ร.ร.ขนาดใหญ่ยังสอบตก"เว้นระยะห่าง"มาตรการคุมโควิด-19รับเปิดเทอม

ร.ร.ขนาดใหญ่ยังสอบตก"เว้นระยะห่าง"มาตรการคุมโควิด-19รับเปิดเทอม

กรมอนามัย เผย ร.ร.ทุกสังกัด ประเมินความพร้อมป้องกันโควิด ผ่านมาตรการหลักทุกข้อ 85.7% ทยอยเปิดเรียน 1 ก.ค.นี้ ที่เหลือตกเรื่องการเว้นระยะห่างโดยเฉพาะร.ร.ขนาดใหญ่ ย้ำต้องทำให้ผ่านก่อนเปิด เตรียมส่งทีมติดตามการควบคุมโรคใกล้ชิช่วง 2สัปดาห์แรกหลังเปิดเทอม

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการเตรียมเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.นี้ ว่า จากการใช้แพลตฟอร์ม Thai Stop COVID ตรวจประเมินความพร้อมสถานศึกษาเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด 44 ข้อ แบ่งเป็น มาตรการหลัก 20 ข้อ และมาตรการเสริม 24 ข้อ โดยเป็นการออกตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในสถานศึกษา 6 มาตรการ คือ 1. คัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา ขอความร่วมมือคุณพ่อคุณแม่คุยกับทางโรงเรียนในจุดรับส่ง ถ้าร่วมมือได้ดี เด็กจะเข้าสู่โรงเรียนได้สะดวกยิ่งขึ้น 2. การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา ต้องแนะนำให้เข้าใจ หากรู้สึกอึดอัดสามารถขยับหน้ากากผ้าบางเวลาได้ 3. จุดล้างมือ ซึ่งเด็กในโรงเรียนจะถูกฝึกเป็นประจำ 4. การจัดชั้นเรียนแบบมีระยะห่าง 5. ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ที่ใช้ร่วมกัน อะไรที่เตรียมมาจากที่บ้านเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวได้ก็จะช่วยลดปัญหา และ 6. ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน

โรงเรียนทั้งประเทศในทุกสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กศน. และโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีจำนวน 38,450 แห่ง ดำเนินการประเมินเบื้องต้นแล้ว 33,597 แห่ง โดย 85.7% ผ่านมาตรการทั้ง 44 ข้อ ถือว่าเป็นความร่วมมือ และตรียมความพร้อม แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ผ่านมาตรการหลักข้อใดข้อหนึ่ง โดยข้อที่อาจจะเป็นข้อจำกัดอยู่ คือเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ โดยจะต้องดำเนินการให้พร้อมและผ่านการประเมินก่อนเปิดเรียน

ภายใน 2 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.ค.2563 ซึ่งกรมอนามัยได้มีการออกแนวทางมาตรการการควบคุมโรค ก็จะมีการทำงานร่วมกันระดับพื้นที่ทุกจังหวัด มีกลไกกำกับติดตามตามปกติ และมีทีมงานจิตอาสาผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียน ลงไปช่วยดู 20 มาตรการหลักและแนวทางการควบคุมโรค นอกจากนี้ ครูต้องบันทึกการเจ็บป่วยของเด็กทุกวัน ซึ่งปกติทำอยู่แล้ว แต่จะเน้นย้ำกลุ่มอาการเสี่ยง เช่น ไข้ ไอ จาม อาการใกล้เคียงกลุ่มโรคเกี่ยวกับโควิดทั้งหมด ซึ่งทางสาธารณสุขก็จะรับทราบ แต่ถ้าเมื่อไรมีเด็กเจ็บป่วยพร้อมกัน ไอ จาม มีไข้พร้อมกัน 5 รายขึ้นไป ครูจะรายงานไปยังหน่วยงานสาธารณสุขที่อยู่คู่กันทันที เพื่อลงไปดูแลเด็ก ควบคุมโรคโดยเร็ว ลดความเสี่ยงที่จะป่วยจากโควิด หรือหากเจ็บป่วยจะไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงเรียน" พญ.พรรณพิมลกล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า การเตรียมแผนรองรับกรณีพบผู้เรียนเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด คือ ต้องมีช่องทางติดต่อกับผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีการจัดพื้นที่แยกส่วน การส่งต่อสถานบริการสาธารณสุข การปิดห้องเรียนหรือปิดสถานศึกษา และการทำความสะอาด ทั้งนี้ ถ้ามีเด็กสงสัยจำเป็นต้องแยกเด็กออกจากชั้นเรียนมาพื้นที่แยกก่อน เพื่อให้ทีมสาธารณสุขลงไปดำเนินการ หากวินิจฉัยว่าเป็นโควิดจะมีวิธีการควบคุมโรคลงไปสนับสนุนโรงเรียน ขอให้ความมั่นใจว่าเราจะทำงานคู่ขนานกัน เช่น ถ้า 1 คนติดโควิด จะดูต่อว่าเป็นห้องชั้นเรียนเดียวหรือไม่ ถ้าใช่ก็หยุดชั้นเรียนนั้น และจัดการความสะอาด ดูแลควบคุมสังเกตอาการทุกคนในห้องเรียนเดียวกัน ถ้าเป็น 2-3 คน แสดงว่ากระจายตัวมากกว่า 1 ชั้นเรียนก็จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียนเพื่อมั่นใจว่าควบคุมโรคและจำกัดวงของโรคได้