จับตาบอร์ด 'อสมท' ถกวันนี้ รับรองเงินเยียวคลื่น 2,600

จับตาบอร์ด 'อสมท' ถกวันนี้ รับรองเงินเยียวคลื่น 2,600

จับตาประชุมบอร์ด "อสมท" วันนี้ หลังบอร์ดลาออกพรึบ เตรียมใส่วาระเงินเยียวยา คลื่น 2600 ให้บอร์ดที่เหลือรับรอง



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (30 มิ.ย.) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT จะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 9/2563 โดยคาดว่าจะมีวาระให้คณะกรรมการที่เหลือจำนวน 8 ราย ให้การรับรองการขอรับเงินค่าตอบแทนจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500- 2690 เมกะเฮิรตซ์ จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ทั้งนี้ กสทช. มีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ให้ กสทช. ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500- 2690 เมกะเฮิรตซ์ ของ MCOT จำนวน 3,235 ล้านบาท

ในการนี้ มติกสทช.ยังรับทราบและให้ MCOT ปฏิบัติตามหนังสือของ อสมท ที่ นร 6100/1250 ลงวันที่ 4 มิ.ย.2563 ซึ่งรายละเอียดระบุให้ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ MCOT เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายของ MCOT ในการพิจารณากำหนดสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มิใช่อำนาจของคณะกรรมการ บริหาร MCOT

สำหรับจำนวนสัดส่วนการชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ระหว่าง MCOT กับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด มีการพิจารณาแบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวในจำนวนเท่าๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจาก กสทช. มีมติดังกล่าว ทำให้กรรมการบางส่วนของ MCOT ไม่เห็นด้วยและเห็นว่าไม่ใช่อำนาจของนายเขมทัตต์ และได้แจ้งทยอยลาออกจำนวน 4 คน ได้แก่ นายพิเศษ จียาศักดิ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2563

ศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์ มีผลตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 นายมนตรี แสงหิรัญ มีผลตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 เช่นกัน และล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 นายธนวัฒน์ สังข์ทอง ได้ยื่นลาออกจากการเป็นกรรมการ

อย่างไรก็ตาม ก่อนลาออก กรรมการ 2 รายได้แก่ ศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์ และ นายมนตรี แสงหิรัญ ได้ทำหนังสือทักท้วงเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของนายเขมทัตต์ ที่ทำหนังสือแจ้งยืนยันรายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน ในการเรียกคลื่นความถี่ย่าน 2500-2600 เมกกะเฮิรตซ์ ที่ นร 6100/1250 วันที่ 4 มิถุนายน 2563 โดยเห็นว่าอาจใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบของ MCOT และกระทำการโดยไม่ปกป้องผลประโยชน์ MCOT และผู้ถือหุ้น

ขณะที่วานนี้ (29 มิ.ย.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท ยื่นหนังสือ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท และประธานกรรมการ บมจ.อสมท ที่ใช้อำนาจโดยไม่ผ่านมติคณะกรรมการ บมจ.อสมท เสนอให้ กสทช.แบ่งเงินเยียวยาค่าคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาครึ่งหนึ่ง
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท ยืนยันว่า การร้องเรียนดังกล่าว ไม่ได้ก้าวล่วงเอกชนคู่สัญญา แต่การเยียวยาต้องพิจารณาอย่างเป็นธรรม ว่าเอกชนคู่สัญญาได้ลงทุนและดำเนินการอะไรไปบ้าง