เดินหน้าถอนโฆษณา Facebook 'ยุติความเกลียดชังเพื่อกำไร'

เดินหน้าถอนโฆษณา Facebook 'ยุติความเกลียดชังเพื่อกำไร'

ผู้จัดทำแคมเปญ "ยุติความเกลียดชังเพื่อกำไร" (#StopHateforProfit) เตรียมยกระดับการรณรงค์หวังเพิ่มแรงกดดันต่อเฟซบุ๊ค (Facebook) ให้เอาโพสต์ข้อความสร้างความเกลียดชังออก

จิม สเตเยอร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารคอมมอนต์เซนส์ มีเดีย ผู้ร่วมทำแคมเปญ ยุติความเกลียดชังเพื่อกำไร (#StopHateforProfit) เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า คณะผู้จัดเตรียมเรียกร้องบริษัทในยุโรปให้ร่วมรณรงค์บอยคอตนี้

ตั้งแต่ #StopHateforProfit เปิดตัวมาเมื่อไม่กี่วันก่อน มีบริษัทเข้าร่วมแล้วกว่า 160 บริษัท 

รวมทั้ง ยูนิลีเวอร์, เวอไรซอน และเบนแอนด์เจอร์รีส์ ที่ประกาศว่า จะยุติการโฆษณาบนเฟซบุ๊คแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหญ่สุดของโลกในเดือน ก.ค.นี้ทั้งเดือน

แคมเปญ “ยุติความเกลียดชังเพื่อกำไร” ก่อตั้งโดยองค์กรฟรีเพรส คอมมอนเซนส์ กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน อาทิ คัลเลอร์ออฟเชนจ์ และแอนไทดีเฟเมชันลีก หลังมรณกรรมของจอร์จ ฟลอยด์ ที่ถูกตำรวจมินนิแอโพลิส กระทำเกินกว่าเหตุ

ความโกรธแค้นจากการเสียชีวิตของฟลอยด์ส่งผลสะเทือนในกลุ่มธุรกิจไปทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ยูนิลีเวอร์ต้องถึงกับเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวที่นิยมในอินเดียที่ใช้ชื่อว่า แฟร์แอนด์เลิฟลี

159348456424

ผู้จัดแคมเปญยืนยันว่า "ยุติความเกลียดชังเพื่อกำไร" จะขยายวงไปทั่วโลกอย่างแน่นอน และขอร้องให้บริษัทในสหรัฐเข้าร่วม เจสสิก้า กอนซาเลส ซีอีโอร่วมของฟรีเพรสกล่าวว่า เธอได้ติดต่อบริษัทคมนาคมและสื่อต่างๆในสหรัฐให้เข้าร่วมด้วย

ส่วนสเตเยอร์ย้ำ “จุดหมายถัดไปคือแรงกดดันจากทั่วโลก” ผู้ร่วมรณรงค์ต้องการกระตุ้นให้บริษัทในยุโรปดำเนินการกับเฟซบุ๊คหนักกว่านี้ โดยจะเรียกร้องให้บริษัทระดับโลกที่ลงโฆษณาบนเฟซบุ๊คอย่าง ยูนิลีเวอร์ และฮอนด้าให้เลิกโฆษณาบนเฟซบุ๊คทั่วโลก หลังบริษัทเลิกโฆษณาแบบเดียวกันในสหรัฐแล้ว

ในวันอาทิตย์ (28 มิ.ย.) ที่ผ่านมา เฟซบุ๊คมีปฏิกิริยาต่อแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น กล่าวว่า บริษัทรู้ว่าต้องทำในเรื่องนี้ให้มากขึ้น และกำลังร่วมกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในการพัฒนาเครื่องมือที่จะมารับมือกับคำพูดสร้างความเกลียดชัง (hate speech) บริษัทได้ลงทุนใช้เอไอ ช่วยตรวจจับข้อความดังกล่าวได้มากถึง 90% ก่อนที่จะมีผู้ใช้เฟซบุ๊ครายงานเข้ามาเสียอีก

อย่างไรก็ตาม การขยายผลแคมเปญในสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อรายได้จากการโฆษณาของบริษัทมากขึ้น แต่ดูไม่ค่อยมีผลกระทบทางการเงินในภาพรวมมาก

159348544746

ริชาร์ด กรีนฟิลด์ จากบริษัทสื่อและเทคโนโลยี “ไลท์เชด พาร์ตเนอร์ส” ยกตัวอย่าง ยูนิลีเวอร์ ที่ประกาศว่าจะหยุดโฆษณาบนเฟซบุ๊คในสหรัฐทั้งปี แต่นั่นเป็นเพียงแค่ 10% ของเม็ดเงินโฆษณาที่ยูนิลีเวอร์ลงกับเฟซบุ๊คทั้งปีที่ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์ 

ตลอดทั้งปีที่แล้ว เฟซบุ๊คมีรายได้จากการโฆษณาเกือบ 70,000 ล้านดอลลาร์ โดย 1 ใน 4 ของรายได้ดังกล่าวมาจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างยูนิลีเวอร์ แต่ข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบาย hate speech ของเฟซบุ๊คก็กระทบต่อภาพลักษณ์และราคาหุ้นในตลาด เมื่อวันศุกร์ (26 มิ.ย.) ราคาหุ้นเฟซบุ๊คลดลงกว่า 8.3% เท่ากับว่า มูลค่าตลาดหายไป 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ 

สเตเยอร์กล่าวด้วยว่า ความพยายามที่จะขยายผลแคมเปญไปทั่วโลกยังสะท้อนถึงความรู้สึกไม่ชอบใจของกลุ่มที่รักความยุติธรรมในสังคม และบริษัทต่างๆที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวต่อการเฟซบุ๊คไม่ทำอะไรกับข้อมูลเท็จและเฮทสปีชบนแพลตฟอร์มของตน การที่เฟซบุ๊คออกมาตรการใหม่เมื่อวันศุกร์ ไม่เผยแพร่โฆษณาและข้อความสร้างความเกลียดชังจากบรรดานักการเมือง เพื่อซื้อใจกลุ่มผู้ประท้วงบริษัทถือว่าเป็นมาตรการที่ยังห่างไกลจากที่พวกเขาเรียกร้องอยู่มาก

“ถ้าพวกเขาคิดว่าที่ทำไปในวันศุกร์นี้พอแล้ว พวกเขาคิดผิด” กอนซาเลสกล่าว “เราไม่ได้ต้องการนโยบายเป็นครั้งเป็นคราวเพื่อแตะตรงนั้นตรงนี้ แต่เราต้องการนโยบายที่จะมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ในองค์รวม”

แคมเปญ "ยุติความเกลียดชังเพื่อกำไร" กำหนดข้อเรียกร้องขึ้นมาชุดหนึ่ง เช่น มีกระบวนการแยกต่างหากเพื่อช่วยให้ผู้ใช้เฟซบุ๊คที่ถูกโจมตีทางชาติพันธุ์หรือลักษณะอื่น ๆ ได้ดำเนินการเป็นการเฉพาะ การรายงานเฮทสปีชให้มีความโปร่งใสมากขึ้น และหยุดสร้างรายได้จากการโฆษณาเนื้อหาที่เป็นอันตราย 

การบอยคอตดังกล่าวกำลังขยายวงไปถึงการโฆษณาบนแพลฟอร์มดิจิตอลอื่น ๆ อย่างทวิตเตอร์

ส่วนสตาร์บัคส์กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ว่า บริษัทจะหยุดโฆษณาบนทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในระหว่างที่กำลังร่วมกับองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ “หยุดการแพร่ข้อความที่สร้างความเกลียดชัง”