พลังงานรื้อโซลาร์ประชาชน หวังลดรายจ่ายครัวเรือน

พลังงานรื้อโซลาร์ประชาชน หวังลดรายจ่ายครัวเรือน

“สนธิรัตน์” เตรียมปั้นใหม่โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ดันตั้งคณะทำงานร่วมฯ คิกออฟต้นแบบ 50 เมกะวัตต์แรก ภายใน 60 วัน หวังลดค่าใช้จ่ายสร้างรายได้ให้ประชาชน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ประชุมบริหารจัดการโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ โดยที่ประชุมฯ ได้ข้อสรุป เตรียมจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งมอบหมายให้ นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะทำงานร่วมฯ เพื่อหารือถึงแนวทางจัดตั้งโครงการโซลาร์ภาคประชาชนต้นแบบ ภายใน 60 วัน

“ภายใน 60 วันนี้ จะเห็นโครงการฯต้นแบบเกิดขึ้นทันที หลังจากคณะทำงานร่วมฯจะได้หารือให้เกิดความชัดเจนทั้ง ราคารับซื้อ สถานที่จัดตั้งโครงการ เงินสนับสนุน การให้สิทธิประโยชน์ หรือแรงจูงใจ”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ จะเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์เดิมของโครงการฯ คือ ลดค่าใช้จ่ายประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการให้ประชานชนเป็นเจ้าของพลังงานด้วยตัวเอง ซึ่งโครงการฯในอดีตยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ซึ่งแผน PDP เดิมกำหนดรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ต่อปี และนำร่องโครงการเมื่อปี 2562 แต่มีผู้สนใจยื่นขอติดตั้งเพียง 1.8 เมกะวัตต์เท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะยังมีอุปสรรคและขาดแรงจูงใจ เช่น อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบเพียง 1.68 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) กล่าวว่า โครงการโซลาร์ภาคประชาชน จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ติดตั้งโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายส่วนที่เหลือเข้าระบบ เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่าย เสริมรายได้แล้ว ยังก่อให้เกิดการจ้างงานแก่ นักศึกษา ปวช. ปวส.ที่จะมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

อีกทั้ง ยังเสนอแนะให้ใช้ ระบบ NET METERING หรือ วิธีการหักกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์ใช้เองบนหลังคากับไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้าแล้ว ซึ่งที่ผ่านมายังมีปัญหาติดขัดไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น หากแก้ปัญหาได้ ก็จะทำให้ประชาชนที่ผลิตไฟฟ้านำมาหักลบลบหนี้หน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากภาครัฐได้ และก็จะสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ด้วย

ส่วนอัตราสนับสนุนรับซื้อไฟฟ้าที่เดิมกำหนดให้ FIT เพียง 1.68 บาทต่อหน่วยนั้น มองว่า ยังเป็นระดับราคาที่ต่ำเกินไป ไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนติดตั้ง ฉะนั้น หากจะรับซื้อในอัตราที่เท่ากับ หรือ ต่ำกว่าที่ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซื้อจาก กฟผ. ก็น่าจะดำเนินการได้ ซึ่งก็ต้องหารือในรายละเอียดต่อไป