ผ่า ‘3หุ้น’ กลุ่มบริหารหนี้ ยก ‘แบม’ เด่นสุดรับ ‘เอ็นพีแอล’ ขาขึ้น

ผ่า ‘3หุ้น’ กลุ่มบริหารหนี้ ยก ‘แบม’ เด่นสุดรับ ‘เอ็นพีแอล’ ขาขึ้น

หุ้นในกลุ่มบริหารหนี้ 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) และบมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นกว่าตลาด โดย ณ วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการฟื้นตัวของราคาหุ้นทั้ง 3 บริษัท นี้ หลังจากที่ดิ่งลงตามตลาดในช่วงเดือน มี.ค. จนฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้นั้น JMT และ CHAYO ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดได้ราว 100% ขณะที่ BAM ฟื้นตัวราว 60%

หากพิจารณาผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมา JMT และ CHAYO เป็นสองบริษัทที่กำไรสุทธิเติบโตขึ้น โดย JMT ทำได้ 206.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% ส่วน CHAYO ทำได้ 36.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.6% ส่วน BAM มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ลดลงเหลือ 698.82 ล้านบาท หดตัว 78.5% ซึ่งเป็นผลจากปีก่อนมีลูกหนี้รายใหญ่ปิดบัญชีชำระหนี้ ทำให้มีรายได้ที่จัดเก็บจากลูกหนี้ NPL ที่สูงในปีก่อน

ทั้งนี้ หากมองย้อนไปในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ JMT เป็นหุ้นที่อยู่ในตลาดมายาวนานที่สุด มีผลประกอบการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างทรงตัว ทำให้การบริหารจัดการหนี้ทำได้ตามปกติ เช่นเดียวกับ CHAYO ที่เข้าจดทะเบียนมาในปี 2561 หลังจากนั้นผลงานก็ดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้ในระยะถัดไป กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์( บล.)กสิกรไทย มองว่า ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะเป็นช่วงของการ ‘ปั้นพอร์ต’ ซึ่งผู้บริหารของแต่ละบริษัทพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า ไตรมาส 4 ปีนี้ จะเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ

ทั้งนี้ BAM ตั้งเป้าซื้อหนี้เข้ามาในปีนี้ 1-1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ JMT ตั้งเป้าไว้ที่ 4.4-4.5 พันล้านบาท และ CHAYO ตั้งเป้าไว้ที่ 1 พันล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 บริษัท มีแนวโน้มที่จะทำได้ตามเป้าหรืออาจจะสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากตัวเลขหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ สูงถึง 6.8 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าในปีนี้ ทั้ง 3 บริษัท มีโอกาสที่จะเพิ่มลูกหนี้ขึ้นมารวมกันราว 1.75 หมื่นล้านบาท

“ด้วยโอกาสในการซื้อหนี้เข้ามาบริหารมากขึ้น จึงมีมุมมองเชิงบวกสำหรับการเข้าลงทุนระยะกลางถึงยาว โดยเป็นการซื้อเพื่อรอกำไรในอนาคตของบริษัทเหล่านี้ ขณะเดียวกันธุรกิจบริหารหนี้นั้นค่อนข้างจะปลอดภัยในช่วงที่ NPL สูงขึ้น และเศรษฐกิจเป็นขาลง เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้บริษัทเก็บหนี้ได้ยาก และเงินทุนจะจม