สสว.อัด 5 หมื่นล้านอุ้ม SME ปล่อยกู้รายละแสนบาท ส.ค.นี้

สสว.อัด 5 หมื่นล้านอุ้ม SME ปล่อยกู้รายละแสนบาท ส.ค.นี้

สสว.ตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาท ให้สินเชื่อไมโครเอสเอ็มอีรายละ 1 แสนบาท หาบเร่-แผงลอยขอได้ ช่วยได้ 5 แสนราย พร้อมปล่อยกู้เอสเอ็มอี 1 ล้านบาท ลดเลิกจ้างงาน ชง ครม. 7 ก.ค.นี้ คาดจะปล่อยกู้ได้ต้น ส.ค.นี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วานนี้ (29 มิ.ย.) เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว.เปิดเผยว่า แนวทางช่วยเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี จะช่วยผู้ประกอบการชายขอบที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยมีโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท จะช่วยผู้ประกอบการได้ 5 แสนราย

สำหรับวงเงินสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาท จะขอใช้จากเงินกู้เยียวยาจำนวน 5.5 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันเหลืออยู่ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันอังคารที่ 7 ก.ค.นี้ โดยวงเงินนี้จะนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเติมพลังต่อทุน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

1.วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ผ่อนชำระนาน 10 ปี หรือจ่ายเดือนละ 275 บาท โดยจะให้กับผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งสามารถพิสูจน์ได้ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือนิติบุคคล และวิสาหกิจชุมชนที่มีการจดทะเบียน หรือที่ไม่ได้จดทะเบียน

ทั้งนี้ ต้องมีคุณสมบัติหลัก คือ เป็นสมาชิก สสว. รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบัน และผู้ขอสินเชื่อต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือค้างชำระค่างวดตามเงื่อนไขในโครงการพลิกฟื้นเอสเอ็มอี และโครงการฟื้นฟูเอสเอ็มอีของ สสว.

ส่วนการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์มีสถานที่เป็นหลักแหล่งหรือไม่ จะให้ธนาคารพาณิชย์ในแต่ละพื้นที่เข้าไปพิสูจน์ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งหาก ครม. อนุมัติ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน จะปล่อยสินเชื่อนี้ได้ หรือภายต้นเดือน ส.ค.นี้ และจะปล่อยได้ทั้งหมดภายใน 3 เดือน

2.วงเงินกู้ 1 ล้านบาท จะปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งในส่วนนี้จะมีขั้นตอนพิจารณรมากกว่าสินเชื่อ 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี หรือชำระเดือนละประมาณ 9,182 บาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอี มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยลดการเลิกจ้างงานลงได้มาก

“กองทุนนี้จะเปิดโอกาสให้กลุ่มไมโครเอสเอ็มอีที่เป็นแม่ค้าหากเร่แผง ร้านค้าตึกแถว และในตลาดสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย โดยไม่ต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งผู้ที่เข้าเกณฑ์จะต้องมีสถานที่ค้าขายเป็นหลักแหล่งและพิสูจน์ได้"นายวีระพงศ์ กล่าว

รวมทั้งจากการคาดการณ์ของ สสว. พบว่า จำนวนเอสเอ็มอีจากฐานข้อมูลของ สสว. จะมีประมาณ 3.1 ล้านราย ในจำนวนนี้จะมีประมาณ 24% เข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือมีประมาณ 7 แสนราย ซึ่งหากมีผู้ที่เข้ามาขอสินเชื่อเกินกว่า 5 หมื่นล้านบาท สสว.ก็พร้อมที่จะขอวงเงินเข้ามาช่วยเหลือเพิ่ม เพื่อให้ไมโครเอสเอ็มอีได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ สสว. จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปีมีวงเงินสูงมาก โดยในปี 2562 มีมูลค่าตลาดภาครัฐทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านล้านบาท หากช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ 30 เปอร์เซ็นต์ จะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่ามาตการดังกล่าว จะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ย.–ต.ค.2563 นี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับแนวทางสนับสนุนจะมี 2 แนวทาง ได้แก่

1.กำหนดโควตาการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 30% ของวงเงินจัดซื้อจัดจ้างในหมวดสินค้าและบริการที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ เข้าถึงตลาดภาครัฐได้ รวมทั้งหน่วยงานรัฐจะต้องคัดเลือกจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการในจังหวัดก่อน แต่หากไม่มีสินค้าหรือบริการในจังหวัดจึงจะคัดเลือกจากผู้ประกอบการนอกจังหวัดได้ เพื่อให้เกิดการกระจายโอกาสให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น

2.กำหนดแต้มต่อด้านราคา โดยหน่วยงานรัฐจะต้องให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ 10% ในกรณีที่ใช้การประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ที่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงาน จะกำหนดหมวดสินค้าและบริการที่ให้การส่งเสริม จากนั้นจะเข้าไปสร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการ โดยการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ได้รับรู้สิทธิประโยชน์และเข้ามาขึ้นทะเบียนกับ สสว.จัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการและสินค้า จัดทำระบบสืบค้นข้อมูลผู้ประกอบการตามจังหวัดและสินค้า เพื่อให้หน่วยงานรัฐเข้ามาค้นหาได้สะดวก

นอกจากนี้ จะจัดอบรมหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และกองทุนฯ เพื่อให้มีความพร้อม ซึ่งจะเริ่มใช้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ภายในปีงบประมาณ 2564 และจะมีการติดตามผลทุกปี เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยให้หน่วยราชการรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างจากเอสเอ็มอี

‘ซอฟท์โลน’ปล่อยแล้ว 9 หมื่นล้าน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าหนึ่งในแนวทางการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในขณะนี้ คือ การใช้กองทุนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่มาสนับสนุนด้านเงินทุน โดยกองทุนนี้ จะมี สสว.เป็นผู้ดูแล

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนเพื่อเป็นสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอีผ่านซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยซอฟท์โลนของ ธปท.ก็สามารถปล่อยได้แล้วราว 9 หมื่นล้านบาท

ส่วนกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจออกมาระบุว่า นับจากเดือนก.ค.ธุรกิจจะทยอยปิดกิจการมากขึ้น เขากล่าววว่า ก็เข้าใจ ดังนั้น เราก็เริ่มดูแลสภาพคล่องให้เขาสามารถอยู่ได้ พยายามให้จ้างงาน พอตอนต่อไปต้องเริ่มคิดว่า เมื่อเขาอยู่ได้ ต้องช่วยเขาขยายธุรกิจและปรับโครงสร้างตัวเอง