อุทกภัยในจีน ไม่กระทบแม่น้ำโขง: สทนช.

อุทกภัยในจีน ไม่กระทบแม่น้ำโขง: สทนช.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติชี้ อยู่คนละต้นน้ำ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้เกิดน้ำไหลหลาก เขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งต้องเร่งระบายน้ำฉุกเฉิน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูงในหลายมณฑล โดยเฉพาะบริเวณตอนกลางของประเทศ รวมถึงมณฑลเสฉวน หูเป่ย์ ฉงชิ่ง หูหนาน และบางส่วนของมณฑลยูนาน

ในเรื่องดังกล่าว กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พบว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง เนื่องจากเป็นลำน้ำคนละสายกับแม่น้ำโขง จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย

โดยปัจจุบันปริมาณน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ซึ่งเป็นเขื่อนตัวสุดท้ายของจีนที่ตั้งอยู่ในมณฑลยูนานด้วย ที่ปริมาณน้ำจะไหลลงแม่น้ำโขงตอนล่าง ยังไม่มีการเพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำแต่อย่างใด โดยหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ ทางการจีนจะทำหนังสือแจ้งเตือนมายังประเทศสมาชิกกลุ่มแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรับทราบสถานการณ์ต่อไป

ภาพ/ไฟล์ภาพน้ำท่วมจีนเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

ภาพรวมสถานการณ์แม่น้ำโขงวันนี้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงยังคงมีปริมาณน้ำน้อยถึงน้อยวิกฤติ และมีแนวโน้มทรงตัว โดยที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระดับน้ำปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับน้ำวิกฤติอยู่ที่ 13.04 เมตร, ที่สถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 9.96 เมตร, ที่สถานีหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 9.53 เมตร, ที่สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 10.86 เมตร, ส่วนที่สถานีปากเซ สปป.ลาว ระดับน้ำปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับน้ำวิกฤติอยู่ที่ 9.56 เมตร

ทั้งนี้ กอนช. จะยังคงติดตามสถานการณ์น้ำในจีน และจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป

159341605076

สำหรับแม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือ แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และประเทศไทย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

โดยไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และ กัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำ ในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่