'รองเลขากฤษฎีกา' ไขก๊อกบอร์ด 'อสมท'

'รองเลขากฤษฎีกา' ไขก๊อกบอร์ด 'อสมท'

"ธนาวัฒน์ สังข์ทอง" รองเลขาธิการกฤษฎีกา ไขก๊อกพ้นกรรมการ อสมท เป็นรายที่ 4 ในรอบ 1 เดือน ขณะที่บอร์ดมีมติตั้ง "เขมทัตต์" นั่งควบเลขานุการบริษัท

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 63 แหล่งข่าวจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT เปิดเผยว่า นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะกรรมการอิสระของบริษัท ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทแล้ว เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 นับเป็นกรรมการรายที่ 4 ที่ยื่นลาออกในรอบเดือนมิถุนายน 2563

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 นางสาวธนพร ทวีพาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเลขานุการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า กรรมการของบริษัท และ กรรมการเฉพาะเรื่องชุดต่างๆ ได้มีหนังสือขอลาออก ประกอบด้วย 1. นายพิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการอิสระ มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2563 2. ศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์ กรรมการอิสระ มีผลตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 และ 3. นายมนตรี แสงหิรัญ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ มีผลตั้งแต่วันที่ 12มิถุนายน 2563 เนื่องจากมีภารกิจอื่นที่ต้องปฏิบัติ

การยื่นลาออกของกรรมการ MCOT มีขึ้นหลังจากหลังจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ให้ กสทช. ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500- 2690 เมกะเฮิรตซ์ ของ MCOT จำนวน 3,235 ล้านบาท

นอกจากนี้รับทราบและให้ MCOT ปฏิบัติตามหนังสือของ อสมท ที่ นร 6100/1250 ลงวันที่ 4 มิ.ย. พ.ศ. 2563 ซึ่งรายละเอียดระบุให้ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ MCOT เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายของ MCOT ในการพิจารณากำหนดสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มิใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหาร MCOT สำหรับจำนวนสัดส่วนการชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ระหว่าง MCOT กับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด มีการพิจารณาแบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวในจำนวนเท่าๆกันทั้ง 2 ฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือของ อสมท ที่ นร 6100/1250 ลงวันที่ 4 มิ.ย. พ.ศ. 2563 นั้น กรรมการที่ลาออกเห็นว่านายเขมทัตต์ ไม่มีอำนาจกระทำการ ซึ่งตามข้อบังคับของบริษัทอำนาจจะต้องเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริษัทเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้กรรมการ 2 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์ และ นายมนตรี แสงหิรัญ จึงทำหนังสือทักท้วงเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานไม่เห็นด้วยต่อการกระทำดังกล่าว ก่อนลาออกจากกรรมการ

โดยหนังสือทักท้วงของศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์ ระบุว่า“ดิฉัน นางสาวปาริชาต สถาปิตานนท์ กรรมการ MCOT ขอทำหนังสือฉบับนี้ถึงท่าน เพื่อทักท้วง หนังสือแจ้งยืนยันรายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคลื่นความถี่ย่าน 2500-2600 เมกกะเฮิรตซ์ (ที่ นร 6100/1250 วันที่ 4 มิถุนายน 2563) ซึ่งนายเขมทัตต์ พลเดล ได้ส่งถึงท่าน(เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)เนื่องจากหนังสือดังกล่าว อาจใช้อำนาจมิชอบและไม่เป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบของ MCOT และกระทำการโดยไม่ปกป้องผลประโยชน์ MCOT และผู้ถือหุ้น จึงขอทักท้วงเป็นหนังสือเพื่อเป็นหลักฐานไว้ ณ ที่นี้”

ขณะที่หนังสือทักท้วงของ นายมนตรี แสงหิรัญ ระบุว่า “หนังสือขอทักท้วงหนังสือแจ้งยืนยัน รายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2600 เมกกะเฮิร์ตซ์ ของ MCOT ที่ นร 6100/1250 วันที่ 4 มิถุนายน 2563 ลงนามโดย นายเขมทัตต์ พลเดช เนื่องจากหนังสือดังกล่าว อาจใช้อำนาจมิชอบและไม่เป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบของ MCOT และกระทำการโดยไม่ปกป้องผลประโยชน์ MCOT และผู้ถือหุ้น จึงขอทักท้วงเป็นหนังสือเพื่อเป็นหลักฐานไว้ ณ ที่นี้”

ด้าน MCOT แจ้งตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้(29 มิ.ย.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ MCOT ครั้งที่ 8/2563 ในวันที่ 11 มิถุนายน 2563ได้มีมติแต่งตั้งนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นเลขานุการบริษัท MCOT แทน นางสาวธนพร ทวีพาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเลขานุการบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

ภายหลังการยื่นลาออกของกรรมการทั้ง 4 รายแล้ว ทำให้บอร์ดของ MCOT เหลือปฏิบัติหน้าที่เพียง 8 คน ได้แก่ 1.พล.ต.ท. จตุพล ปานรักษาประธานกรรมการ 2.นายเขมทัตต์ พลเดชกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 3.นายบุญสน เจนชัยมหกุล 4.นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ 5.นางภัทรพร วรทรัพย์กรรมการ 6.นายสุวิทย์ นาคพีระยุทธ 7.นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ และ 8.นายมารุต บูรณะเศรษฐกุลกรรมการอิสระ