'อ่าวบ้านดอน' ปัญหาการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง

'อ่าวบ้านดอน' ปัญหาการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง

"อ่าวบ้านดอน" ศูนย์รวมความสมบูรณ์และแหล่งรวมความหลากหลายในระบบนิเวศท้องทะเล แต่ปัจจุบันได้กลายสภาพจากพื้นที่สาธารณะเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล เข้าทำประโยชน์ด้านการประมงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม

จากที่ผู้ประกอบการหรือผู้ที่อ้างสิทธิในการครอบครองพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมายบริเวณอ่าวบ้านดอน มีการปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำกับผู้ที่ครอบครองพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคอกหอย ขนำ บริเวณอ่าวบ้านดอนมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่แหลมซุย อ.ไชยา ถึงแหลมกุกา อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีลักษณะเป็นเวิ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ มีพื้นที่รอบอ่าวรวมประมาณ 477 ตารางกิโลเมตร ลักษณะแนวชายฝั่งมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ อ.เมือง ท่าฉาง พุนพิน อ.ไชยา กาญจนดิษฐ์ และดอนสัก 

“อ่าวบ้านดอน” มีลักษณะเป็นท้องกระทะรับน้ำจากคลองน้อยใหญ่ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จากตะกอนปากแม่น้ำต่างๆ ที่ไหลลงสู่อ่าวบ้านดอน โดยเฉพาะแม่น้ำตาปี จึงเป็นศูนย์รวมของความสมบูรณ์และแหล่งรวมความหลากหลายในระบบนิเวศท้องทะเล อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำและเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิด ทำให้พื้นที่อ่าวบ้านดอนมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ไม่ว่าการประมง การเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทางตรงและทางอ้อม ลักษณะชายฝั่งทะเลตลอดทั้งอ่าวเป็นบริเวณน้ำตื้น 

พื้นที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นแปลงเลี้ยงหอยนางรม หอยแครง และหอยแมลงภู่ พื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์อาจจะด้วยการจับสัตว์น้ำหรือทำประมงพื้นที่บ้านเพื่อเลี้ยงชีพ

สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรทะเลสาธารณะได้แปรเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ที่ให้บุคคลสามารถถือกรรมสิทธิ์พื้นที่สาธารณะได้ ในช่วงต้นมีการจัดสรรพื้นที่ในทะเลให้บางส่วน และจากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวทำให้มีกลุ่มนายทุนกว้านซื้อ หรือซื้อทะเลจากชาวบ้านเพื่อนำมาทำเป็นคอกหอยแครงเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยภาครัฐก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้แก่ ปัญหาการบุกรุกเพื่อทำคอกหอยแครงของนายทุน การรุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ทะเลสาธารณะส่งผลให้พื้นที่หากินของชาวประมงพื้นที่บ้านมีจำกัด หากินได้เพียงพื้นที่รองเดินเรือ และไม่สามารถรุกล้ำเข้าเขตคอกหอยนายทุนได้ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมโดยการถูกทำลาย

การตักตวงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากเกินไปจนทรัพยากรลดลงอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร การบุกรุกผู้มีอิทธิพลเข้ามายึดครอง พื้นที่โดยไม่ได้อนุญาต รวมถึงขัดขวางการรื้อถอนของเจ้าหน้าที่ และเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ในพื้นที่อ่าวบ้านดอน

ทรัพยากรธรรมชาติมีความสำคัญและจำเป็นต่อมนุษย์เราเป็นอย่างมาก อีกทั้งอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ในด้านต่างๆ กล่าวคือสามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร หากขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะก่อให้เกิดปัญหากับมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่ดีย่อยแสดงให้เห็นถึงความลำบากยากไร้ของประชาชนในท้องถิ่น เนื่องจากประชาชนได้อาศัยทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อประกอบอาชีพ

ทรัพยากรชายฝั่งที่มีอยู่ในชุมชนมีความสำคัญมาก สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในหลายด้าน การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติที่ดีต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน โดยการมีส่วนรวมในการตัดสินใจ (Decision Making) การดำเนินงาน (Implementation) การรักษาผลประโยชน์ (Benefit) และการประเมินผล (Evaluation) เป็นกระบวนการที่คนในชุมชนจะเข้ามาร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่ท้องถิ่นเกิดความยั่งยืนและสืบทอดให้ลูกหลานต่อไป

อย่างไรก็ดี ภาครัฐในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 กฎหมายเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมถึงกิจกรรมทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลชายฝั่ง โดยให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรียกโดยย่อว่า “ศรชล.” ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ มีหน้าที่และอำนาจและรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล นอกจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง แต่ก็ไม่สามารถจัดการความขัดแย้งในบริเวณอ่าวบ้านดอนได้

การบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งทางทะเลในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการบูรณาการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งในทางปฏิบัติ ส่วนใหญ่ยังดำเนินการโดยภาครัฐ และยังมีส่วนร่วมน้อยจากภาคส่วนอื่นในสังคม ประกอบกับเครื่องมือและกลไกเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง จึงเป็นผลให้ไม่สามารถสนับสนุนให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคมให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อทรัพยากรร่วม (Common Pool resources) ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์จากทรัพยากรมาเป็นของตนเองและพวกพ้อง

การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรบนฐานอย่างยั่งยืน เป็นมิติสำคัญอย่างหนึ่งที่วางรูปแบบและมีการดำเนินงานที่ทำให้สมาชิกในชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับมิติการทำงานที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมในการทำงานได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน การรับรู้ ได้นำไปสู่การยกระดับของกิจกรรมที่มีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟู การแก้ไขปัญหา กติกา ข้อกำหนด สู่การเอื้อประโยชน์

การจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่เชื่อมโยงเข้ากับความมั่งคงด้านอาหารและความมั่งคงด้านอาชีพของชุมชนชายฝั่ง รวมทั้งสร้างความตระหนัก การป้องกัน และการตั้งรับปรับตัวจากภัยธรรมชาติ การปรับเปลี่ยนกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่สะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยในลักษณะที่เป็นข้อตกลงร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ซึ่งมีลักษณะเฉพาะไปตามทรัพยากรแต่ละประเภท

สิทธิชุมชนยังก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน การตรวจสอบถ่วงดุล การเปลี่ยนแปลงและการเจรจาต่อรองอย่างต่อเนื่องระหว่างสมาชิกชุมชน และระหว่างชุมชนกับอำนาจภายนอก