ความกังวลแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 2 ยังกดดัน 'ตลาดหุ้น' ทั่วโลกอยู่

ความกังวลแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 2 ยังกดดัน 'ตลาดหุ้น' ทั่วโลกอยู่

หลายประเทศเริ่มทยอยปลดล็อคมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าหลังโควิด-19 แต่ก็เริ่มมีการพูดถึงเศรษฐกิจโลกและของแต่ละประเทศที่จะมี GDP ติดลบ สำหรับไทยเริ่มเห็นค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ต่างชาติยังไม่กลับมาซื้อสุทธิและสถาบันภายในประเทศยังขายทำกำไรต่อเนื่อง

1.ดัชนีดาวโจนส์ (DJIA) 24-06-2563 ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดิ่งลงกว่า -710.16 จุด หรือ -2.72% สู่ระดับ 25,445.94 ปัจจัยลบยังคงเดิมๆ เกี่ยวกับความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบ2 ของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ ที่พุ่งสูงขึ้น, Worldometer รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 9,380,140 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 480,375 ราย ขณะที่สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต

ค่าเฉลี่ย 7 วันของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก IMF รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2563 และปีหน้า พร้อมกับเตือนว่าสถานะทางการคลังของรัฐบาลประเทศต่างๆจะทรุดตัวลงอย่างหนัก ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มงบประมาณเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

IMF ระบุว่า วิกฤตการณ์ในปีนี้แตกต่างจากวิกฤตการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และสร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ, DJIA ถูกกดดันจากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 6.5% ในปีนี้ ขณะที่อัตราการว่างงานจะพุ่งแตะระดับ 9.3%, คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยืนยันว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และบรรลุเป้าหมายของเฟดในการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของราคา

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องรุนแรง จากระดับจุดต่ำสุด 18,086 จุดและสร้างจุดสูงสุด รอบนี้ 9 มิถุนายน 2563 ที่ระดับ 27,624 จุด, มาแตะเกือบๆ 28,000 จุด เรียกได้ว่าเด้งกลับมาเกือบๆ 10,000 จุด การปรับฐานลงมาเพื่อพักฐานช่วงสั้น จึงเป็นเรื่องปกติ, ดาวโจนส์ ปัจจุบันเคลื่อนไหวออกด้านข้าง แนวรับ ที่บริเวณ 25,000-25,500 จุด จะรับอยู่หรือไม่ ติดตามต่อไป, หากรับอยู่มีโอกาสลุ้นรีบาวด์กลับ แต่หากเด้งกลับไปแล้ว ไม่สามารถทะลุ 26,700-27,000 จุดได้ ต้องระวังจะเป็นการเด้งเพื่อขายหุ้นมากกว่าตีกลับยาวๆ

2.IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.9% ในปีนี้ ซึ่งย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ในเดือน เม.ย.ว่าจะหดตัวลง 3%, และ IMF ยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าสู่ระดับ 5.4% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือน เม.ย.ว่าจะขยายตัว 5.8%, IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ (USA) จะหดตัวลง 8.0% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 5.9% ก่อนที่จะมีการขยายตัว 4.5% ในปีหน้า

เศรษฐกิจยูโรโซน (EU) คาดว่าจะหดตัว 10.2% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 7.5% ก่อนที่จะมีการขยายตัว 6.0% ในปีหน้า, ขณะที่ จีน (China) เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ IMF คาดว่าจะมีการขยายตัวในปีนี้ โดยจะอยู่ที่ระดับ 1.0% แต่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะขยายตัว 1.2% ก่อนที่จะพุ่งขึ้น 8.2% ในปีหน้า

3.ตลาดหุ้นทั่วโลก เคลื่อนไหวไปทางเดียวกัน เวลาตื่นตกใจก็ไปทางเดียวกัน ดีใจก็ทางเดียวกัน รวมทั้งไทยด้วย, เนื่องจากปัจจุบันปัจจัยบวกลบใหม่ๆ ไม่ได้มีอะไรเพิ่มมากนัก เพราะหลายประเทศปลดล็อคหรือ เตรียมปลดล็อค หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี อย่างเช่นไทยเรา, แต่หลายประเทศก็จะเจอปัญหาการแพร่ระบาดรอบ 2, 3 อย่างเช่น สหรัฐ เป็นต้น ทำให้การความวิตกกังวลในการลงทุน ดัชนีหุ้นทั่วโลกจึงผันผวนในช่วงนี้ ซักระยะ

4.ประกอบกับใกล้จะปิดงวดไตรมาส 2/63 เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 จะยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นหุ้นบริษัทจดทะเบียนหลายๆตัวจึงมีแรงขายออกมาเพื่อรอการประกาศงบ ไตรมาส 2/63 ให้แล้วเสร็จเสียก่อน, ซึ่งงบไตรมาส 2/63 ของสถาบันการเงิน จะประกาศในเดือน ก.ค.63 ส่วนบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ทั่วๆ ไปจะประกาศในกลางเดือนสิงหาคม 2563

5.กราฟค่าเงินบาท 25-06-2563 ยังคงแข็งค่า อยู่ที่ 30.92 บาท/ดอลลาร์ หลังจากที่กราฟขึ้นไปแตะ (อ่อนค่า) เมื่อ 2 เมษายน 2563 ที่ระดับ 33.175 บาท/ดอลลาร์ ก่อนที่จะเริ่มกลับมาเป็นขาลง (แข็งค่า) จนกราฟค่าเงินบาท หลุด แนวรับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ ลงมา สุดท้ายจึงแข็งค่าอยู่ระดับ 30.92 บาท/ดอลลาร์ ในปัจจุบัน โดยปกติ หากค่าเงินบาท แข็งค่า ส่วนใหญ่ ต่างชาติจะหันกลับมาซื้อหุ้นสุทธิ คืน แต่ในปัจจุบัน กลับไม่เป็นเช่นนั้น ต่างชาติยังคงขายหุ้นสุทธิต่อเนื่องตลอดมายังไม่กลับมาซื้อเป็นเรื่องเป็นราวแต่ย่างใด ยังคงขายสุทธิ ระดับ 3-4,000 กว่าล้านบาท/วัน

6.เศรษฐกิจไทยปี 2020-21E ถูกปรับลดเป้าหมายเติบโต โดย ธปท.ปรับเป็น -8.1% และ +5% (เดิม -5.3% และ +3%) โดย IMF -7.7% และ +5% (เดิม -6.7% และ +6.1%) ส่งผลให้เกิดแรงขายต่อเนื่อง รุนแรง ในตลาดหุ้นไทย จนปรับตัวลงมาแตะใกล้ๆ แนวรับจิตวิทยา 1,300 จุด ก่อนจะมีเด้งกลับขึ้นมาในระยะสั้นๆ

7.ราคาน้ำมันดิบ (WTI) 25-06-2563 อยู่ที่ 37.44 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากขึ้นไปทดสอบแนวต้าน EMA 200 วัน = 41.34 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำราคาสูงสุดที่ 41.60 ดอลลาร์/บาร์เรล ไม่สามารถผ่านขึ้นไปได้ เกิดแรงขายทำกำไรลงมา และสหรัฐฯ รายงานสต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สาม และสูงกว่าคาด (เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล Vs คาดลดลง 1 แสนบาร์เรล) และอุปสงค์น้ำมันโลกอาจลดลง หากมีการ lockdown รอบใหม่

หาก สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย, มีการปลดล็อคประเทศต่างๆ มากขึ้น, อุปสงค์จะเพิ่มขึ้น, กลุ่ม OPEC และ นอกกลุ่ม OPEC ผู้ผลิตน้ำมันลดกำลังการผลิตหรือไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน จะทำให้ราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปได้

10.การวัด Fibonacci Retracement ดัชนีหุ้นไทย โดยกำหนดจุดต่ำสุด (L) ที่ 969.08 จุด, จุดสูงสุดรอบนี้ (High: H) 1,454.95 จุด จะพบว่า ดัชนีรีบาวด์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องรุนแรง นับจากจุดต่ำสุดเด้งขึ้นมาถึง +485.87 จุด ภายในระยะประมาณ 3 เดือน เรียกได้ว่าเด้งกลับมาเกือบๆ 500 จุด, ถ้าหากดัชนีจะมีการปรับฐานลงมา 50% จาก 500 จุด มีโอกาสไหม ก็อาจจะเป็นไปได้ หากแรงขายของสถาบันยังขายต่อเนื่อง และต่างชาติขายซ้ำๆ หรือไม่ซื้อสุทธิเข้ามา, โดย Fibonacci Retracement 38.2% = 1267-1,270 จุด, 50% = 1,210 จุด, 61.8% = 1,150 จุด ตามลำดับ, ถ้าหากมีข่าวร้ายจริงๆ แล้ว ดัชนีมีการปรับฐานรุนแรงจนกระทั่งหลุดแนวรับ 1,300 จุดลงมา ค่อยมาดูแนวรับ ลึกๆ ดังกล่าว

สรุป หลายๆ ประเทศเริ่มทยอยๆ ปลดล็อคเปิดประเทศกันมากขึ้น มาตรการต่างๆ ได้เริ่มผ่อนคลายทั่วโลก, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้เริ่มทยอยๆออกมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจทั่วโลกเดินหน้าหลังภัยโควิด-19 แม้ว่าการผลิตวัคซีนจะยังไม่สำเร็จ, แต่ก็เริ่มมีการพูดถึงเศรษฐกิจโลกและของแต่ละประเทศที่จะมี GDP ติดลบ, กังวลการแพร่ระบาดรอบ 2, 3 ของโควิด 19 ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องทั่วโลก

ช่วงปิดงวดบัญชี ไตรมาส 2/63 ที่ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานจะยังไม่ดี, ค่าเงินบาทของไทยเราเริ่มเป็นขาลง (ค่าเงินบาทแข็งค่า) แต่ต่างชาติยังไม่กลับมาซื้อสุทธิ และสถาบันภายในประเทศขายทำกำไรออกมาต่อเนื่อง ดัชนีเกิดสัญญาณขายลงมา, หากดูแนวโน้มการบริหารจัดการโควิด-19 และพัฒนาการต่างๆ ของไทย น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาหุ้นขึ้นเร็วเกินไป

นักวิเคราะห์จะเริ่มหันมาพูดว่า P/E เริ่มสูง, ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 ยังไม่ฟื้น ยังไม่มีกำไร ราคาหุ้นแพงไป, จะทำให้มีการขายทำกำไร, ดัชนีระยะสั้น จึงมีความผันผวน, หากดัชนีปรับฐานแล้ว ไม่หลุด 1,300 จุด ลงมา เลือกหุ้นพื้นฐานดีๆ มีอนาคตและราคาหุ้นไม่สูงเกินไป ทยอยๆ ซื้อหุ้นเข้าพอร์ตเก็บไว้, ถ้าไม่มีข่าวร้ายหนักๆ หวังว่า คงไม่ปรับตัวถึงระดับ แนวรับ Fibonacci Retracement 38.2% = 1267-1,270 , 50% = 1,210 จุด

หุ้นที่ให้ท่านนักลงทุนไปศึกษา (ยังคงเดิมๆ) ปัจจัยพื้นฐาน + กราฟเทคนิค + รูปแบบการดำเนินธุรกิจของหุ้นแต่ละตัว แต่ละธุรกิจ เพราะวิกฤติ คือ โอกาส ที่จะได้ซื้อหุ้นดีๆ ราคาถูกๆ, ราคาและจังหวะการซื้อขายให้ท่านนักลงทุน ไปหาเอาเองครับ, ไม่จำเป็นต้องไปวิ่งไล่หาหุ้นตัวใหม่ๆ ที่พื้นฐานไม่ดี ยกเว้นดีจริงๆ และ Business Model เด่นสุดๆ จึงควรไปศึกษาเพิ่มเติม, หุ้นขนาดเล็กขอย้ำๆ ว่าไม่ควรเข้าไปลงทุน ต้องแนวโน้มธุรกิจดีจริงๆ เท่านั้น

ขอให้ทุกๆ ท่านร่ำรวยๆ ปลอดภัยในการลงทุน ในปี 2563 และตลอดไป