รัฐบาลดันแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มอำนาจ-รับเลิกพ.ร.ก.

รัฐบาลดันแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มอำนาจ-รับเลิกพ.ร.ก.

“วิษณุ” เล็งแก้ “พ.ร.บ.โรคติดต่อ” เพิ่มมาตรการสกัดโควิด รับยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ ศบค. เตรียมเคาะ 5 มาตรการผ่อนปรนระยะ 5 วันจันทร์นี้ ด้าน “ดีอีเอส” ปลื้มคนแห่ใช้แอพ “ไทยชนะ” ทะลุ 30 ล้านคน

หลังจากที่คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน เห็นชอบขยายเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ออกไปอีก 1 เดือน สิ้นสุด 31 ก.ค.2563

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ตามที่เสนอหรือไม่ จะต้องฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข สำหรับครั้งนี้คงคุมเข้มในเรื่องของการเดินทางแบบจับคู่ประเทศ (travel bubble) รวมถึงการเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จึงต้องดูแลเกี่ยวกับเด็กๆเป็นกรณีพิเศษ

ในส่วนของนักธุรกิจที่จะเข้ามานั้น ถ้าเข้ามาแล้วอยู่ยาว ก็ต้องกักตัว 14 วันก่อน กับถ้าอยู่แค่ 3-4 วันจะมีมาตรการอีกแบบหนึ่ง เช่นการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” เข้าพักโรงแรมที่จะต้องจ่ายเงินเองพร้อมกับมีตารางเวลาที่สามารถให้ติดตามตัวได้ชัดเจน และต้องชี้แจงด้วยว่า เข้ามาทำธุรกิจอะไรไปไหนบ้างผ่านทางเครือข่ายแอพฯไทยชนะ

ส่วนกรณีฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมองว่าการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก1เดือนมีนัยทางการเมือง มองว่าการออกมาคัดค้านเป็นเรื่องธรรมดาแต่ก็ดีถือเป็นการเตือนสติให้รัฐบาลได้คิด ขณะที่ ข้อเสนอในการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ (พ.ร.บ.โรคติดต่อ) แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ขณะนี้กำลังคิดกันอยู่แล้วว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อจะได้ไม่ต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป โดยจะนำมาตรการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาบรรจุใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ

มั่นคงยันไม่ได้หวังผลการเมือง

ทั้งนี้ มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงให้หลักคิดต่อการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือนว่า รัฐบาลไม่ได้หวังผลทางการเมืองการชุมนุมก็ยังเกิดขึ้นได้โดยมีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่การเสนอต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้การดูแลควบคุมสถานการณ์โควิด-19 เป็นไปด้วยดี ถ้าเปรียบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมือนยานเกราะ ในเดือนก.ค.นี้ศบค.จะขอใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบขอใช้ยานเกราะ โดยไม่มีปืนกลไม่มีเครื่องยิงลูกระเบิดไม่มีอาวุธใดๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้เจ้าหน้าที่ทุกคน ทั้งบุคลากรสาธารณสุขและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกันในที่ที่มีเกราะกำบังปราศจากอันตรายจากอาวุธใดๆสามารถทำงานได้เต็มที่ และปราศจากความกังวลจากการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคำสั่งต่างๆนั่นเอง หากคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ จะสามารถควบคุมการกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามา และเรื่องของค่าใช้จ่ายในช่วงกักตัวที่รัฐเป็นผู้ออกให้

ลุ้นศบค.เคาะ5ประเด็นจันทร์นี้

ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แถลงสถานการณ์การติดเชื้อประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 4 รายอยู่ในสถานกักกันของรัฐ ซึ่งเดินทางมาจากประเทศซูดานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้มีตัวเลขสะสม 3,162 ราย รักษาหายแล้ว 3,040 ราย ผู้เสียชีวิตเท่าเดิมที่ 58 รายส่วนผู้ที่รักษาตัวอยู่ 64 ราย ทั้งนี้การติดเชื้อในประเทศยังคงเป็นศูนย์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 32 แล้ว

ขณะที่ มาตรการผ่อนคลายในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการประชุมศบค.ชุดใหญ่ โดยจะมีการพิจารณาใน 5 เรื่องสำคัญได้แก่ 1.การผ่อนปรนมาตรการระย ะ5 2.การพิจารณาต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3.การพิจารณาให้บุคคลจากต่างประเทศเดินทางเข้ามา 4.รองรับการเปิดการศึกษาตามชายแดน และ 5.การพิจารณายกเว้นข้อกำหนดเว้นระยะห่างในรถขนส่งสาธารณะทั้งหลายโดยให้ใช้เก้าอี้ได้ทุกตัว

ส่วนข้อกำหนดในการผ่อนคลายในระยะ 5 ที่บางคนมองว่า เงื่อนไขในการไปเที่ยวผับบาร์ อาบ อบ นวด มีมากเกินไปนั้น แม้ 32 วัน จะถือว่ามั่นใจระดับนึง แต่ที่กรุงปักกิ่งของจีนไม่พบผู้ติดเชื้อ 50 กว่าวันก็ยังกลับมาติดใหม่ ดังนั้นจะกี่วันก็ตามไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าจะไม่มีระลอก 2
เช่นเดียวกับ คณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศจะเข้ามาได้หรือไม่นั้น ถ้ากลุ่มนี้สามารถรับมาตรการของไทยได้ก็น่าจะเปิดเข้ามาได้ โดยกระทรวงวัฒนธรรม จะประสานทำเรื่องเสนอขึ้นมาพิจารณาต่อไป

ยอดใช้งาน“ไทยชนะ”ทะลุ30ล้าน

ด้านนพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยความคืบหน้าการใช้งาน “ไทยชนะ”ของประชาชน และร้านค้า ณ วันที่ 26 มิ.ย.ว่า ขณะนี้ มียอดผู้ใช้งาน แล้วกว่า 30,792,286 คน ประเภทกิจการ/ร้านค้า ลงทะเบียน 230,768 ร้าน โดยพบว่า 5 จังหวัด ที่มีสัดส่วนการประเมินกิจการ/กิจกรรมสูงสุด ได้แก่ 1. ปทุมธานี 2. นครปฐม 3. กรุงเทพมหานคร 4. นนทบุรี และ 5. ชลบุรี

ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนของการเปิดให้มีการใช้งาน “ไทยชนะ” ได้มีการเพิ่มฟังก์ชั่นเพื่อรองรับความต้องการ ล่าสุดเพิ่มระบบการจองคิวในไทยชนะ สำหรับการจองท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ที่จะทยอยเริ่มกลับมาเปิดหลังโควิด-19 ซึ่งจะมีการจำกัดนักท่องเที่ยว โดยไทยชนะ จะเป็นเครื่องมือช่วยคัดกรองและติดตามการเข้าพื้นที่ของนักท่องเที่ยวรองรับนโยบายการท่องเที่ยวแบบ new normal อีกด้วย