ปิดฉากคดี 'นปช.' บุกบ้านสี่เสา ศาลฎีกาชี้ละเมิดสิทธิ พล.อ.เปรม สั่งจำคุก 5 แกนนำ 2.8 ปี

ปิดฉากคดี 'นปช.' บุกบ้านสี่เสา ศาลฎีกาชี้ละเมิดสิทธิ พล.อ.เปรม สั่งจำคุก 5 แกนนำ 2.8 ปี

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา สั่งจำคุก 5 แกนนำ นปช. “นพรุจ-วีระกานต์-ณัฐวุฒิ-วิภูแถลง-เหวง” 2 ปี 8 เดือน นำม็อบชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาฯ ละเมิดสิทธิ “พล.อ.เปรม”

ทำร้ายตำรวจ สร้างความวุ่นวายปั่นป่วน ทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ชี้เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอลงอาญา

คดีชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 หมายเลขดำ อ.3531/2552 มาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา วานนี้ (26 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 701 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก

โดยคดีนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายนพรุจ หรือ นพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน นายวันชัย นาพุทธา นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7

ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส

คดีนี้ศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์ นายณัฐวุฒิ นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน ให้ยกฟ้องนายวีระศักดิ์และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ริบของกลางทั้งหมด จำเลยอุทธรณ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พวกจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ยกฟ้องจำเลยที่ 2-3
จำเลยที่1 และ 4-7 ยื่นฎีกา ขอกลับคำพิพากษา เป็นให้การรับสารภาพ ขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษด้วย

ล่าสุด วานนี้(26 มิ.ย.) จำเลยทั้งหมดที่ต่อสู้คดีถึงชั้นฎีกา เดินทางมาศาล โดยก่อนหน้านี้มีเหตุต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว 4 ครั้ง อาทิ กรณีจำเลยที่ 4-7 ยื่นขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ โดยวันนี้มี นางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษา นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พร้อมญาติ แกนนำและมวลชน นปช. ส่วนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว กรณีจำเลยที่ 4-7 เพิ่งยื่นฎีกาแก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพนั้น ไม่อาจกระทำได้ ต้องกระทำก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มีปัญหาต้องวินิจฉัยนายนพรุจ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางทำร้ายเจ้าพนักงานหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตำรวจเป็นประจักษ์พยานโดยตรง เบิกความไม่มีพิรุธ ประจักษ์พยานที่จับกุมให้การตรงไปตรงมา ไม่มีพฤติการณ์กลั่นแกล้งจับกุมเพื่อหวังประโยชน์ใดๆ มีน้ำหนักรับฟังได้

และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (รักษาการ ผบ.ตร.ขณะเกิดเหตุ) สั่งการให้จับตนเพราะมีเหตุโกรธเคืองนั้น เห็นว่าการจับกุมเกิดจากการทำผิดซึ่งหน้า เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเชื่อมโยงกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลล่าง

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่าพฤติการณ์เป็นการก่อเหตุร้ายแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง มิได้สำนึกถึงความผิด ไม่สมควรรอการลงโทษ ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยนายวีระกานต์ นายณัฐวุฒิ นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้หมายความให้ใช้เสรีภาพปราศจากขอบเขตละเมิดสิทธิผู้อื่น กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่เบิกความเป็นพยานหลายปาก

ตามทางนำสืบ โจทก์มีพยานหลักฐานวัตถุพยานภาพ วีดิโอ และเทปปราศรัย ขณะจำเลยชุมนุมที่สนามหลวงเป็นการชุมนุมโดยสงบมาตลอด เหตุที่จำเลยที่ 4-7 ต้องการนำผู้ชุมนุมไปปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาฯ เชื่อว่า พล.อ.เปรม อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ โดยความจริงแล้วจำเลยไม่มีหลักฐานมั่นคงมาพิสูจน์ให้รับฟังได้ และ พล.อ.เปรม ไม่ได้นัดหมายหรือแถลงข่าวให้จำเลยที่ 4-7 ฟังคำตอบหรือคำชี้แจง การนำผู้ชุมนุมไปปราศรัยโจมตี จึงเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของ พล.อ.เปรม

ส่วนที่จำเลยที่ 4-7 ฎีกาขอลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า การกระทำเป็นลักษณะเตรียมวางแผนล่วงหน้า ในการนำมวลชนจำนวนมากไปมั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย ทำลายทรัพย์สินราชการ ฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจ ต่อสู้ขัดขวางตำรวจจนเกิดการปะทะเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน จำคุกจำเลยที่ 1, 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน