งบฟื้นฟูก้อนแรก 'แสนล้าน' ต้องโปร่งใส สร้างประโยชน์แท้จริง

งบฟื้นฟูก้อนแรก 'แสนล้าน' ต้องโปร่งใส สร้างประโยชน์แท้จริง

ประเทศไทยเผชิญวิกฤติโรคระบาดครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ต้องปิดเมือง ถึงวันนี้เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จึงต้องร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศให้คืนกลับมาให้เร็ว ดังนั้นทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เคาะงบฟื้นฟูก้อนแรกแล้วจำนวน 1.01 แสนล้านบาท ในจำนวน 213 โครงการ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ลงทุนสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน กระตุ้นบริโภค ท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจากนี้จะมีการแบ่งการอนุมัติเงินกู้ออกเป็น 2-3 รอบ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

รอบแรกที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ โครงการสำคัญตามเป้าหมายที่วางไว้ เน้นสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในกลุ่มเกษตรกร ดึงบิ๊กดาต้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน เพิ่มการจ้างงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพของประชาชน

สามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางดิจิทัล รองรับการพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มศักยภาพและยกระดับสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ รวมถึงพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งต้องลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต เช่น สร้างเกษตรสมัยใหม่ สร้างงานให้เกษตรกร ยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีนิวนอร์มอล กระจายรายได้สู่ชุมชน นักศึกษา บัณฑิตตกงาน ผู้ประกอบการ และเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคท่องเที่ยวในประเทศ ที่คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การกระตุ้นการลงทุนในประเทศจากวิกฤติโควิดผ่าน เงินกู้ 4 แสนล้านบาทครั้งนี้ คือ การประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้จีดีพีประเทศหดตัวไปมากกว่านี้ ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ให้กลับมาฟื้นตัว และเดินหน้าได้ต่อ ด้วยเป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เช่น เกิดการจ้างงานใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/ตำบล การท่องเที่ยว พัฒนาต้นแบบท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระหว่างและหลังวิกฤติโควิด ผู้ประกอบการ แรงงาน ได้รับการพัฒนา บริษัทนำเที่ยวได้ประโยชน์ กระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศให้คึกคัก ด้านการเกษตร เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ยกระดับเป็นเกษตรแปลงใหญ่ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ มีเกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้น มีดิจิทัลแพลตฟอร์ม ระบบโลจิสติกส์ ดิจิทัลแพลตฟอร์มท่องเที่ยว สร้างอีโคซิสเต็มส์ให้คึกคัก มีมูลค่าเพิ่ม

ประเทศไทยเผชิญวิกฤติโรคระบาดครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ต้องปิดเมือง ปิดธุรกิจไปมากกว่า 2 เดือน ถึงวันนี้เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เราจึงต้องร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศให้คืนกลับมาให้เร็ว เปลี่ยนวิกฤติโควิด-19 ให้เป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนกระบวนการผลิต ปรับรูปแบบการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป ดังนั้นทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอน ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ต่อธุรกิจได้อย่างแท้จริง