CIMBT สั่งคุมหนี้เสียปีนี้4% เตรียมโละ NPL ขาย 1-2 พันล้าน

CIMBT สั่งคุมหนี้เสียปีนี้4% เตรียมโละ NPL ขาย 1-2 พันล้าน

“ซีไอเอ็มบีไทย” ยอมรับวิกฤติโควิด ทำแผนธุรกิจสะดุด คาดสินเชื่อปีนี้ทรงตัว จากเป้าเดิมโต 12% สั่งคุมหนี้เสียปีนี้ในระดับ 4% พร้อมเตรียมขายหนี้ออกราว 1-2 พันล้าน พร้อมเผยยอดธุรกรรมผ่านดิจิทัลแบงกิ้งพุ่ง 80% หลังเปิดโมบายแบงกิ้งใหม่

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) CIMBT กล่าวยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธนาคารและลูกค้า ทำให้แผนดำเนินงานในปีนี้อาจเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อ 

ทั้งนี้ เป้าหมายเดิมของธนาคาร ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ไว้ที่ 12% แม้ปัจจุบันจะมีสินเชื่อปล่อยใหม่ออกไปบ้าง โดยเฉพาะบางภาคธุรกิจที่ยังมีความต้องการสินเชื่อใหม่อยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มียอดคืนสินเชื่อเข้ามาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ในปีนี้สินเชื่ออาจไม่ได้ขยายตัว ดังนั้นโจทย์ของธนาคารในปีนี้ คือการรักษาคุณภาพสินเชื่อ และการปล่อยสินเชื่อที่ตรงเป้าที่ธนาคารมองว่ามีศักยภาพมากขึ้น

ส่วนภาพรวมหนี้เสียของธนาคาร คาดว่าปีนี้จะทรงตัว เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และของธนาคาร ดังนั้นคุณภาพหนี้น่าจะรักษาระดับให้ใกล้เคียงอยู่ที่กว่า 4% ได้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันในปีนี้บริษัทมีแผนขายหนี้เสียออกมาราว 1-2พันล้านบาทเช่นกัน ซึ่งทำให้เอ็นพีแอลลงมาที่ระดับ4% ได้

“เอ็นพีแอลปีนี้ผมมองว่าไม่ขึ้น คงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากนี้ แต่ความเสี่ยงสูง และเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือ เมื่อทุกอย่างกลับมา ลูกค้าจะกลับมาได้แบบไหน แล้วแบงก์จะมีความเข้าอกเข้าใจ ประคับประคองลูกค้า ให้ลูกค้าค่อยๆกลับมายืนอย่างแข็งแรงได้หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่หลายอย่างเปลี่ยนแปลง การทำธุรกิจใหม่ ที่จะมีความผันผวนมากขึ้นไปอีกระหว่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือโควิด-19 ระลอกสองจะมีหรือไม่ ดังนั้นในฐานะแบงก์ก็ต้องดูให้ดี ว่าจะประคองช่วยลูกค้าอย่างไร เพราะหากผิดเสต็ปก็อาจจะหกล้ม ดังนั้นแนวโน้มลูกค้าวันนี้ช้าอยู่แล้วแบงก์ก็อย่าไปวิ่งแล้วกัน”

ส่วนภาพรวมการใช้ดิจิทัลแบงกิ้ง ปัจจุบันเติบโตขึ้นค่อนข้างมาก โดยพบว่าทรานเซกชั่นแบงกิ้งบนดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็นราว 80% หากเทียบกับต้นๆปีที่การทำทรานเซกชั่นเติบโตอยู่เพียงระดับ 30% หากเทียบกับทรานเซกชั่นทั้งหมด ดังนั้นถือว่าเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อเรามีการเปิดตัวการให้บริการผ่านดิจิทัลมากขึ้น ทั้งโมบายแบงกิ้ง หรือการซื้อกองทุนผ่านโมบายแบงกิ้ง การให้สินเชื่อผ่านดิจิทัลเลนดิ้ง หรือสินเชื่อออนไลน์ ส่งผลให้การทำธุรกรรมบนดิจิทัลสูงขึ้น เช่นเดียวกัน การซื้อกองทุน ที่พบว่า 80% เป็นการซื้อผ่านระบบดิจิทัล ผ่านโบบายแบงกิ้ง เพราะลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น และคาดว่าหลังจากนี้เมื่อลูกค้าคุ้นชินมากขึ้น จะเห็นการทำธุรกรรมบนดิจิทัลเพิ่มเป็น 80-90% ได้ในปีนี้

ด้านงบลงทุนปี 2563 ธนาคารยังตั้งเป้าไว้ใกล้เคียงเดิม ที่500-600 ล้านบาท ที่ใช้ลงทุนในด้านไอที แต่มีแนวโน้มว่า ปีนี้อาจจะใช้งบลงทุนด้านนี้ลดลง เพราะช่วง 2-3เดือนที่ผ่านมา หลังเกิดล็อกดาวน์ธนาคารก็ไม่ได้ลงทุนใหม่เพิ่มเติม ดังนั้นเชื่อว่าหลังจากนี้ อาจเห็นการลดและลงทุนบางด้านมากขึ้นเพื่อให้สอดรับยุคใหม่ในอนาคต

ส่วนภาพสาขา แม้ธนาคารมองว่า ท้ายที่สุดเมื่อคนหันไปทำธุรกรรมบนดิจิทัลมากขึ้น แต่เชื่อว่า สาขาธนาคารจะไม่ลดลงในปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาธาคารได้มีการปรับลดสาขาลงแล้วค่อนข้างมาก แต่กลับรับพนักงานเพิ่มเติม เพราะจากแนวโน้มการเติบโตด้านดิจิทัล หรือการเติบโตด้านกองทุนต่างๆ ธนาคารจำเป็นต้องมีพนักงานที่จะให้บริการด้านบริการ หรือเซลล์มากขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆในอนาคต

สำหรับผลการประชุม ผู้ถือหุ้นครั้งที่ 26 ในวันศุกร์ที่ 26 มิ.ย.2563 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติวาระการประชุม โดยมีวาระสำคัญ ได้แก่การจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.005 บาทให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารรวมเป็นเงินจำนวน 174.11 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน มีการอนุมัติการจัดสรรกำไรประจำปี 2562 เป็นสำรองตามกฎหมายจำนวน 21.3 ล้านบาท และให้โอนส่วนที่เหลือของกำไรสุทธิจากการจัดสรรเงินปันผลระหว่างกาลและเงินสำรองตามกฎหมายดังกล่าวไปเป็นกำไรสุทธิคงเหลือหลังจากการจัดสรรยกไปงวดหน้า จำนวน 228.63 ล้านบาท นอกจากนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังได้อนุมัติการเลิกกิจการสาขาเวียงจันทน์และเปลี่ยนสถานะเป็นสำนักงานตัวแทนของกลุ่ม ซีไอเอ็มบีอีกด้วย