สมาชิกขอแต้มต่อ 'CPTPP' เพิ่มเวลา-ลดเงื่อนไข 'ผูกพัน'

สมาชิกขอแต้มต่อ 'CPTPP' เพิ่มเวลา-ลดเงื่อนไข 'ผูกพัน'

เศรษฐกิจโลกและไทยกำลังเผชิญคลื่นลูกใหญ่ จากพิษโควิด-19 อย่างชนิดที่เรียกว่ายังไม่เห็นหนทางก้าวให้พ้นวิกฤติ ท่ามกลางความสับสนยุ่งเหยิง ไทยก็กำลังอยู่บนทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะเข้าร่วมความตกลงซีพีทีพีพีหรือไม่

เศรษฐกิจโลกและไทยกำลังเผชิญคลื่นลูกใหญ่ จากพิษโควิด-19  อย่างชนิดที่เรียกว่ายังไม่เห็นหนทางก้าวให้พ้นวิกฤติ ท่ามกลางความสับสนยุ่งเหยิง ไทยก็กำลังอยู่บนทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะเข้าร่วมความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)หรือไม่ 

รายงานข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยถึงสถานะล่าสุดของประเทศสมาชิกซีพีทีพีพี ที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันว่ายังเหลืออีก 4 ประเทศ ได้แก่ เปรู ชิลี บรูไน และมาเลเซีย โดยสมาชิกที่ลงนามให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้แล้วได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม รวม 11 ประเทศ

สำหรับสาเหตุที่ 4 ประเทศยังไม่ให้สัตยาบัน ได้แก่เปรูเนื่องจากต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์โควิดก่อน อย่างไรก็ตาม รัฐสภาเปรูไม่มีประเด็นขัดแย้งต่อเนื้อหาในข้อตกลง เพราะทุกกระทรวงให้ความเห็นชอบแล้วเพียงแต่รอความเห็นชอบจากรัฐสภาเท่านั้น

ด้านชิลี ผ่านขั้นตอนพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เหลือขั้นตอนของวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เกิดการประท้วงในชิลี ทำให้รัฐบาลยังไม่ผลักดันเรื่องนี้ให้วุฒิสภา  ส่วนบรูไน เนื่องจากสถาการณ์โควิด กระทบต่อกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันต้องล่าช้าออกไปจากเดิมตั้งเป้าว่าจะเข้าร่วมในกลางปี 2563 ขณะที่มาเลเซีย เนื่องจากกำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เมื่อมี.ค.2563และการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดจึงต้องรอดูท่าทีรัฐบาลชุดใหม่ในการให้สัตยาบันและอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนและศึกษาความตกลงฯให้ถี่ถ้วนก่อนให้สัตยาบัน

“จะเห็นว่าแม้ขั้นตอนการเจรจาจะสิ้นสุดแล้ว แต่หากยังไม่ให้สัตยาบันเหมือน 4 ประเทศนี้ ข้อตกลงฯก็จะยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งสิ่งที่ล่าช้าออกไปด้วยเช่นกันคือโอกาสทางการค้าและการลงทุน แต่ก็เป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆต้องเทียบเคียงผลได้และผลเสียให้ชัดก่อนใช้โอกาสสำหรับการตัดสินใจอีกครั้งนี้" 

159317788682

 ทั้งนี้ ตามหลักการเจรจาการค้าเสรี จะมีแต้มต่อให้สมาชิกที่ยังไม่มีความพร้อมในบางเรื่อง สามารถขอขยายเวลาการบังคับใช้ข้อตกลงออกไปได้ รวมถึงไม่นำสินค้าที่คิดว่าอ่อนไหวมาอยู่ในรายการที่ต้องยกเว้นภาษี ทำให้สินค้าดังกล่าวจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีนี้ 

โดยสาระสำคัญพบว่าสมาชิกซีพีทีพีพี ส่วนใหญ่เปิดเสรีสินค้าต่ำสุดที่ 94.15% ได้แก่ ญี่ปุ่น ของรายการสินค้าทั้งหมด และมากที่สุดคือ 100% ได้แก่ นิวซีแลนด์ บรูไน และสิงคโปร์  ขณะที่การขอระยะเวลาลดภาษี(บางรายการ) น้อยที่สุดที่ 4 ปี ได้แก่ ออสเตรเลีย และมากที่สุด 21 ปี ได้แก่ ญี่ปุ่น และเวียดนาม 

“สินค้าที่ขอขยายเวลายกเว้นภาษีส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวรับการแข่งขัน ของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นขอเวลา 21 ปีสำหรับเนื้อโคและเต้าหู้  มาเลเซียขอ 16 ปีสำหรับไวน์และแอลกอฮอล์ ส่วนกลุ่มสินค้าที่ขอยกเว้นจากการยกเลิกภาษี ก็เพราะประเมินแล้วเป็นของสำคัญจำเป็นและไม่สามารถแข่งขันได้เช่น ญี่ปุ่นยกเว้นข้าว  เวียดนามยกเว้นน้ำตาล เกลือ เป็นต้น”

นอกจากสินค้าแล้ว การขอขยายเวลาและยกเว้นการเปิดเสรี สำหรับข้อตกลงประเด็นอื่นๆ ซึ่งจะขอยกหัวข้อที่สำคัญๆและยกตัวอย่างบางประเทศมานำเสนอ ได้แก่ การบริการ การลงทุนและการเงิน ซึี่งมีหัวข้อย่อยคือกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ (ISDS) พบว่า ชิลี เม็กซิโก เปรู เวียดนาม ขอให้นักลงทุนสามารถยื่นฟ้องผ่าน ISDS ได้หากนักลงทุนนั้นได้ยื่นฟ้องต่อศาลภายในของแต่ละประเทศข้างต้นแล้วโดยให้ถือเป็นที่สิ้นสุด ขณะที่กลไกการขยายสิทธิประโยชน์ให้กับประเทศภาคีโดยอัตโนมัติ หากมีการแก้ไขกฎหมายภายในให้เสรีขึ้น(Ratchet) ซึ่งเรื่องนี้เวียดนามขอ Transition Period ในการบังคับใช้กฎเกณฑ์เรื่อง Ratchetไว้ 3 ปี 

ส่วนประเด็นห้ามกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นเงื่อนไขการอนุญาตการลงทุนของสมาชิก (Performance Requirement) มาเลเซีย กำหนดให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นเงื่อนไขในการประกอบกิจการของร้านค้าปลีกเฉพาะอย่าง(Specialty Store) 

การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นั้นส่วนหนึ่งมีประเด็นการให้แต้มต่อแก่การจัดซื้อจัดจ้าง (offsets) โดยมาเลเซีย ขอความยืดหยุ่นให้สามารถให้แต้มต่อการจัดซื้อจัดจ้างได้ 12 ปี นับตั้งแต่ความตกลงมีผลบังคับใช้  ด้านเวียดนาม ขอไว้ที่ 25 ปี 

ส่วนประเด็นการขอระยะเวลาปรับตัวในการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำ (Threshold)เพื่อเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (รัฐบาลกลาง) นั้นบรูไนขอเวลาปรับตัว 4 ปี สำหรับสินค้า บริการ และก่อสร้าง มูลค่าตั้งแต่ 5 กว่าล้านบาทถึง 200 กว่าล้านบาท มาเลเซีย ขอเวลา 7 ปีสำหรับสินค้า มูลค่า 5-60 กว่าล้านบาท บริการ 9 ปี มูลค่า 5-80 กว่าล้านบาท และก่อสร้าง 20 ปี มูลค่า 600กว่าล้านบาท -2.7 พันกว่าล้านบาท ขณะที่เวียดนาม ขอเวลา 25 ปี สำหรับสินค้าและบริการ มูลค่า ตั้งแต่ 5.6-8.6 ล้านกว่าบาท และก่อสร้าง 15 ปี มูลค่า300 -2.8 พันกล่าล้านบาท 

สำหรับประเด็นร้อนอย่าง ทรัพย์สินทางปัญญา ในส่วนของอนุสัญญา UPOV 1991  มีการขอความยืดหยุ่นจากหลายประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ มี 2 ทางเลือกได้แก่ 1. มีระยะเวลาปรับตัว 3 ปี เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ หรือ 2. ปรับกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ   บรูไน ขอระยะเวลาปรับตัว 3 ปี เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เม็กซิโก 4 ปี มาเลเซีย 4 ปี   

ตอนนี้ถือว่ายังมีเวลาพิจารณาและรับข้อมูลจากทุกด้านเป็นสิ่งจำเป็นเพราะทางเลือกครั้งนี้สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก