10 เมกะโปรเจคเสี่ยงสะดุด การเมืองป่วนทำข้าราชการเกียร์ว่าง

10 เมกะโปรเจคเสี่ยงสะดุด การเมืองป่วนทำข้าราชการเกียร์ว่าง

“สมคิด” สั่ง สคร.เร่งโครงการลงทุนล่าช้าให้เกิดขึ้นในปีนี้ หลังโควิด-19 ระบาด กระทบลงทุนพีพีพีกว่า ​10 โครงการ

รายงานข่าวระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) วานนี้ (26 มิ.ย.) ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ ซึ่งในปี 2563 มีโครงการที่ต้องเสนอคณะกรรมการพีพีพีประมาณ 10 โครงการ แต่ส่วนใหญ่ถูกเลื่อนออกไปในช่วงต้นถึงกลางปี 2564 โดยสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการชะลอการทำงานหรือเกียร์ว่าง

รวมทั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุดวันที่ 23 มิ.ย.2563 ไม่มีกระทรวงใดเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกเว้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสนอแผนบริหารจัดการถ้ำและการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เกือบทุกโครงการต้องชะลอการดำเนินการไป 6-10 เดือน ดังนั้นจึงสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปกำชับรัฐวิสาหกิจให้เร่งเดินหน้าโครงการลงทุนของตนเอง จะช้าไปบ้างไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ช้าขนาดเป็นปี ซึ่งรัฐวิสาหกิจต้องให้เหตุผลให้ได้ว่าการลงทุนล่าช้าเพราะอะไร

“เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผมได้หารือกับบริษัท ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เร่งการลงทุนของปีหน้าให้มาลงทุนภายในปีนี้่ และปรับเปลี่ยนการลงทุนที่เน้นการจ้างงานให้มากขึ้น รวมทั้งได้ให้ สคร.ติดตามโครงการลงทุนภาครัฐกับเอกชน ที่ล่าช้าด้วยว่า ล่าช้าเพราะเหตุใด และถ้าหากโครงการใดล่าช้าแบบไม่มีสาเหตุก็ยกเลิกไปเลย และให้หน่วยงานนั้นเสนอโครงการใหม่เข้ามาทดแทน ”

ทั้งนี้รัฐบาลต้องการเห็นโครงการร่วมลงทุนที่ไม่ใช่ในลักษณะโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว ต้องการให้การลงทุน ในโครงการด้านสังคม ด้าน ภาคบริการ การแพทย์ การศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งท่องเที่ยวและเกษตรกรด้วย ซึ่งโครงการเหล่านี้เอกชนยังเข้าร่วมค่อนข้างน้อยเพราะแรงจูงใจไม่เพียงพอ จึงให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปดูมาตรการจูงใจเพิ่มเติม และให้สคร.รีบประชาสัมพันธ์ให้เอกชนรับรู้ด้วยว่าภาครัฐมีโครงการเหล่านี้

“คลัง”ชี้ลงทุนล่าช้า10โครงการ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงทุนโครงการลงทุนในพีพีพีล่าช้า เกิดจากการ แพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้มาจากปัญหาเกียร์ว่างของหน่วยงานเจ้าของโครงการจึงให้ สคร.เชิญผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในโครงการสำคัญ มาหารือร่วมกันว่าจะเดินหน้าโครงการที่ล่าช้าอย่างไร เพราะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ต้องต้องอาศัยการลงทุนในประเทศ เนื่องจากการส่งออกยังไปไม่ได้ ซึ่งถ้าหากมีการลงทุนการบริโภคจะขับเคลื่อนด้วย

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า ปัจจุบันแผนการร่วมลงทุนตามคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) มีทั้งหมด 90 โครงการ มูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่โครงการร่วมลงทุนที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน 18 โครงการ วงเงินรวม 472,050 ล้านบาท และในจำนวนนี้มี 10 โครงการที่มีการดำเนินการล่าช้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นัดประชุมไม่ได้

“รองนายกรัฐมนตรีให้ สคร.ดูว่าแต่ละหน่วยงานดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้หรือไม่ ถ้าใครดำเนินการไม่ได้ตามแผนจะเรียกผู้บริหารเจ้าของโครงการมาชี้แจงสัปดาห์หน้า”

นอกจากนี้คณะกรรมการพีพีพี ยังได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการเสนอโครงการครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

“พีพีพี”ด้านคมนาคม10โครงการ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการด้านคมนาคมที่มีแผนลงทุนในปี 2563 งบประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท เป็นโครงการพีพีพีไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.ระบบรถไฟฟ้า มีสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) 122,000 ล้านบาท สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 124,000 ล้านบาทสายสีแดง (รังสิต-ธรรมศาสตร์) 6,570 ล้านบาทและสายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลาลา) 6,640 ล้านบาท 

2.ทางหลวงระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่เตรียมเปิดพีพีพี ประกอบไปด้วย มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 79,000 ล้านบาทมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซีย 42,600 ล้านบาท ทางยกระดับรังสิต-บางปะอิน 29,400 ล้านบาทและวงแหวนรอบนอกตะวันตก (บางขุนเทียน-บางบัวทอง) 78,000 ล้านบาท 

3.โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 โครงการ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน 30,000 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง (อู่ตะเภา-ระยอง) 35,000 ล้านบาท 

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า วานนี้ (26 มิ.ย.) คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เห็นชอบเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (อาร์เอฟพี) และรายละเอียดการประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน โดยจะประกาศเชิญชวนวันที่ 3–9 ก.ค.นี้ 

รวมทั้งจำหน่ายเอกสารอาร์เอฟพีวันที่ 10–24 ก.ค.นี้ และกำหนดการให้เอกชนยื่นข้อเสนอในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้เดือน ธ.ค.นี้