สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยค้านเข้าร่วม 'CPTPP'

สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยค้านเข้าร่วม 'CPTPP'

สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เตรียมยื่นหนังสือร้องทุกข์ถึง “บิ๊กตู่” 29 มิ.ย.นี้ คัดค้านเข้าร่วมเป็นสมาชิก “ซีพีทีพีพี” ยันถ้าไทยเข้าร่วม เอสเอ็มอีโลจิสติกส์ไทยตายเรียบ เหตุแข่งขันกับต่างชาติไม่ได้

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เปิดเผยว่า วันที่ 29 มิ.ย.63 สมาพันธ์จะยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เพราะเห็นว่า ไทยยังไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมขณะนี้

อีกทั้งความตกลงนี้ มีกฎเกณฑ์การเปิดเสรีในระดับสูงเป็นการเปิดให้กลุ่มให้บริการต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้100 %ในลักษณะNegative Listsที่เปิดเสรีภาคบริการทุกสาขาก่อน แล้วค่อยแจ้งสมาชิกว่าไทยจะขอสงวนไม่เปิดเสรี หรือเปิดเสรีไม่เต็มรูปแบบในสาขาใดบ้างที่ยังไม่พร้อม แต่หากไทยไม่แจ้งสมาชิก ก็เท่ากับไทยจะต้องเปิดเต็มรูปแบบ

 “ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นธุรกิจบริการอีกสาขาหนึ่งของไทย ที่ต่างชาติต้องการให้ไทยเปิดเสรี เพราะธุรกิจนี้กำลังเติบโตได้ดี ซึ่งการจะเข้ามาของต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เราหมดอนาคตแน่ เพราะผู้ประกอบการไทย ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี มีเงินทุนน้อย แข่งขันไม่ได้กับยักษ์ใหญ่ เงินทุนหนาจากต่างประเทศแน่นอน ที่สำคัญ ไทยลงทุนสร้างถนนหนทางด้วยงบประมาณมหาศาล พอเสร็จแล้ว จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาหาเงินแล้วขนกลับประเทศหรือ มันไม่แฟร์กับคนไทย ถ้าเปิดให้เข้ามาจริง เราตายแน่ และจะเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาควบคุมระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบ”

       

 

 นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่เคยหารือกับสมาพันธ์เลยว่า ถ้าไทยจะเข้าเป็นสมาชิก สมาพันธ์จะมีความเห็นอย่างไร จะมีผลดี หรือผลเสียอย่างไร ถ้ามาหารือกันก่อน เราจะได้ชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย และหาแนวทางเยียวยา หรือลดกระทบ เพื่อให้ภาคธุรกิจมั่นใจว่า รัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยหารือเลย ทั้งๆ ที่ การเปิดเสรีบริการในซีพีทีพีพี มีระดับการเปิดเสรีสูงกว่าในอาเซียนมาก และในอาเซียนเป็นการเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่รวมถึงการเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์

 

นายสุวิทย์ กล่าวว่า เมื่อใดที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมซีพีทีพีพี ควรทำความเข้าใจกับภาคเอกชนให้ถ่องแท้ และโปร่งใส โดยมีมาตรการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จัดตั้งสภาโลจิสติกส์แห่งชาติ เพื่อเป็นผู้แทนของภาคเอกชนในการทำงานร่วมกับภาครัฐ, จัดให้มีกฎหมายรองรับ อย่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์พ.ศ….ที่ได้มีการยกร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 52 จนผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยนั้น แต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อจนถึงปัจจุบัน

รวมถึงมีมาตรการด้านการเงิน เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ, รัฐบาลควรสนับสนุนภาคบริการโลจิสติกส์ของไทย โดยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถ ในการแข่งขัน, พัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ให้ความรู้ ความชำนาญ ในแต่ละสาขาวิชาชีพ เป็นต้น