'โควิด' ฉุดนักลงทุนชะลอ ยอดตั้งบริษัทอีอีซีลด 13%

'โควิด' ฉุดนักลงทุนชะลอ  ยอดตั้งบริษัทอีอีซีลด 13%

พาณิชย์เผย ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ในอีอีซี 5 เดือนแรกของปี 63 ลดลง 13.35 % รับผลกระทบจากโควิด-19  นักลงทุนชะลอลงทุน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน ม.ค.-พ.ค.63 ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ประกอบด้วย เขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง พบว่า มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ รวม 2,731 ราย ลดลง 13.35 % เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. – ก.พ. 2562 จำนวน 3,152 ราย โดยมีทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 6,790 ล้านบาท ลดลง 18.32 % เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 ที่มีทุนจัดตั้ง 8,313 ล้านบาท

สำหรับประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ 443 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน1,413 ล้านบาท รองลงมาคือก่อสร้างอาคารทั่วไป 202 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 321 ล้านบาท และตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ 124 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 369 ล้านบาท

ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัด ในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนิติบุคคลคงอยู่ จำนวน 74,073 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,959,310 ล้านบาท แบ่งเป็น จ.ชลบุรี 54,357 ราย คิดเป็น 73.38 % จ.ระยอง 13,909 ราย คิดเป็น 18.18 % และ จ.ฉะเชิงเทรา 5,807 ราย คิดเป็น 7.84 % โดยขนาดธุรกิจส่วนใหญ่ในพื้นที่อีอีซีมีการประกอบธุรกิจบริการ คิดเป็น 60.90%และเป็นธุรกิจ SMEs คิดเป็น 98.09%

ด้านการลงทุนของต่างชาติในนามนิติบุคคลไทย (ถือหุ้นไม่เกิน 49.99%) ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีมูลค่าทั้งสิ้น 788,156 ล้านบาท คิดเป็น 40.22 %ของมูลค่าทุนทั้งหมด โดยญี่ปุ่นมีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด คิดเป็น 48.10 % มูลค่าทุน 379,135 ล้านบาท รองลงมาคือจีนมีสัดส่วนการลงทุน 10.63 % มูลค่าทุน 83,767 ล้านบาท และสิงคโปร์มีสัดส่วนการลงทุน 5.49 % มูลค่าทุน 43,235 ล้านบาท โดยมีการลงทุนในจังหวัดระยองสูงสุด 418,340 ล้านบาท ชลบุรี 288,052 ล้านบาทและฉะเชิงเทรา 87,763 ล้านบาท

“ผลจากโควิด 19 ทำให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่รอดูสถานการณ์และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ คาดว่าแนวโน้มการจดทะเบียนทั้งปีจะใกล้เคียง หรือปรับตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน”นายวุฒิไกร กล่าว