‘ดิจิทัล เซอร์วิส’ คีย์เวิร์ดสำคัญ โลกสุขภาพในอนาคต

‘ดิจิทัล เซอร์วิส’ คีย์เวิร์ดสำคัญ โลกสุขภาพในอนาคต

หากโรงพยาบาลหรือธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Healthcare) นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลในขั้นตอนการรักษา เชื่อว่าจะช่วยให้การวิเคราะห์ แยกแยะ วินิจฉัยโรคเพื่อการรักษามีประสิทธิภาพขึ้น

การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร ที่สำคัญไม่สามารถส่งสัญญาณให้รู้ล่วงหน้า ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 มีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาจำนวนมาก จนโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทันและความต้องการในการรักษา อาจเพราะโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มียารักษาหรือวัคซีนที่ฉีดป้องกันได้ 

ขณะเดียวกัน การวิเคราะห์เพื่อรักษาเบื้องต้นยังใช้ระยะเวลานาน แต่ปัจจุบันโลกกำลังหมุนไวเพราะการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลมากขึ้น หากโรงพยาบาลหรือธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Healthcare) นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลในขั้นตอนการรักษา เชื่อว่าจะช่วยให้การวิเคราะห์ แยกแยะ วินิจฉัยโรคเพื่อการรักษามีประสิทธิภาพขึ้น

เทคฯสิ่งสำคัญต่อระบบสุขภาพ

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมต่างนำเทคโนโลยีที่พัฒนาตลอดเวลา มาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถบริหารจัดการในองค์กรหรือธุรกิจได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับโรงพยาบาล หรือเฮลธ์แคร์ ควรนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก บริหารจัดการระบบสาธารณสุขได้ดีขึ้น

ยิ่งเกิด โควิด-19 กลุ่มเฮลธ์แคร์ ยิ่งต้องเร่งปรับตัวและเปลี่ยนเพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่ เร่งนำ ดิจิทัล เซอร์วิส มาใช้งานและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการรักษาที่เร็ว มีประสิทธิภาพ เข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น

ดิจิทัล เซอร์วิส หรือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการบิ๊กดาต้าของโรงพยาบาลหรือธุรกิจเฮลธ์แคร์ จะเริ่มมีบทบาทต่อระบบการดูแลสุขภาพมากขึ้น ด้วยประโยชน์หลายส่วน ได้แก่ 1.ช่วยรักษาอาการป่วยหรือบาดเจ็บแต่ละบุคคลแม่นยำและถูกต้องมากขึ้น พอมีการจัดเก็บข้อมูลถูกต้องและเป็นดิจิทัล ทำให้กระบวนการรับข้อมูลจากผู้ป่วยมีความถูกต้องตั้งแต่กรอกประวัติผู้ป่วย ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อช่วยวินิจฉัยรักษาโรคทั่วไปของผู้ป่วยแต่ละรายบุคคลได้ถูกต้องแม่นยำ เช่น ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ช่วยประเมิน วิเคราะห์โรคทั่วไปเบื้องต้น ก่อนส่งต่อไปยังแพทย์ผู้รักษา หรือการใช้ข้อมูลพันธุกรรมของแต่ละคน

2.ช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงหรือเกี่ยวกับโรคร้ายแรงได้ดีขึ้น ข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ช่วยวิเคราะห์อาการผู้ป่วยได้รวดเร็วและแม่นยำ ลดเปอร์เซ็นต์อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงไปด้วย เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจมะเร็งปอด หรือในกรณีที่ต้องผ่าตัดและฉายรังสี

3.ลดต้นทุนองค์กรหรือหน่วยงานได้ การจัดการข้อมูลที่ดีช่วยลดกระบวนการหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากหรือซับซ้อนมากขึ้น สะดวกทั้งการค้นหา บริการที่รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายในการดูแลบุคลากรที่ลดลง

4.ทำให้จัดสรรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เหมาะสมช่วยลดขั้นตอน-ประหยัดเวลารักษา การนำบิ๊กดาต้ามาช่วย นอกจากจะมีประโยชน์ทางตรงสำหรับผู้ป่วยแล้ว ยังสามารถจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญได้เหมาะสมกับอาการผู้ป่วยและโรคที่รักษา  

5.เพิ่มศักยภาพติดตามสุขภาพของผู้ป่วยหลังได้รับการรักษามากขึ้น การจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลหลังได้รับคำแนะนำ และการรักษาจากแพทย์  เป็นส่วนเติมเต็มทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะข้อมูลและแหล่งที่มาจะกลายเป็นข้อมูลที่นำมาพัฒนาระบบบิ๊กดาต้า เพิ่มคุณภาพการรักษาเพิ่มขึ้นอีก เช่น ใช้เอไอเข้ามาช่วยบอกสถานะของผู้ป่วยสูงอายุในสถานบริการสุขภาพ ใช้เครื่องวัดความสั่นสะเทือน และรูปแบบการเดินของผู้ป่วยหลังได้รับการรักษา

ดิจิทัลเซอร์วิส เก็บข้อมูลเป็นระบบ

การใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ บิ๊กดาต้า หรือดิจิทัล เซอร์วิส ที่ดีในกลุ่มเฮลธ์แคร์ สิ่งสำคัญ คือ ต้องบริหารจัดการพื้นฐานของข้อมูลที่นำมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดี เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง อัพเดทสม่ำเสมอ ง่ายต่อการนำไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง ขณะที่ การมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้เข้ามาช่วย และพัฒนาระบบดังกล่าวด้วยกัน จะทำให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

นายพชร กล่าวว่า สิ่งที่อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ต้องเตรียมพร้อม คือ ต้องตั้งเป้าหมายองค์กรที่ชัดเจน เพราะจะทำให้ตอบคำถามความต้องการใช้บิ๊กดาต้าได้อย่างถูกวัตถุประสงค์ นำไปสู่การพัฒนาระบบได้ถูกจุด เมื่อจัดการข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ต้องมีวิธีการบริหารจัดการข้อมูลดิจิทัลให้ถูกต้องเป็นระบบและปลอดภัย พร้อมใช้งานได้ทันสถานการณ์ 

"วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นแล้วว่าเมื่อโลกใบนี้มีความไม่แน่นอนของอุบัติการณ์ใหม่ๆ และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หรือรุนแรงแค่ไหน สิ่งเดียวที่จะทำให้คนในอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์อยู่รอด หรือก้าวข้ามผ่านวิกฤติเป็นที่แรก หรือนำไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดหรืออุตสาหกรรมได้ หากตื่นตัวที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลมากกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะโควิด-19 ส่งสัญญาณตีระฆังเตือนแล้วว่า ถ้าคุณไม่เปลี่ยน ไม่ปรับ จะไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่ง"