ถึงเวลาอัพเกรด 'กฎหมายอุ้มหาย' ของไทย

ถึงเวลาอัพเกรด 'กฎหมายอุ้มหาย' ของไทย

เรียกได้ว่า ช่วงจังหวะเวลาเหมาะเจาะพอดิบพอดี หลังจากข่าวการหายตัวของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” นักเคลื่อนไหวคนไทย หลบหนีคดีไปในดินแดนกัมพูชา เริ่มซาลงไป และยังหาตัวไม่เจอ

 กลายเป็นจังหวะที่ประเทศไทย พยายามเดินหน้าอัพเกรดกฎหมายป้องกันการ อุ้มหาย โดยกระทรวงยุติธรรม เสนอ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งผ่านครม.แล้วส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง 

จากนั้นจึงจะส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

เข้าไปอ่านสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เขียนไว้น่าสนใจ ได้กำหนดความผิดฐานกระทำทรมานและความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิด ให้เป็นไปตามหลักสากล

ทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ

นอกจากเหตุผลที่ต้องมีกฎหมายตามหลักสากลแล้ว ยังอ้างอิงผลการศึกษาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 เหตุผล ที่น่าสนใจเอาไว้ว่า

1.ในทางปฏิบัติ ยังพบว่ามีกรณีการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย รวมถึงกรณีที่มีการร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ โดยเฉพาะในประเด็น การงดเว้นโทษ” (Impunity) ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

  1. ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกันและการเยียวยากรณี การกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย

ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นการป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้การกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐลดลงหรือหมดไป ซึ่งจะช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรม และยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากขึ้น

หากมองในมุมที่ใกล้ตัว คงมีคำถามว่า ทำไมชาวบ้านตาสีตาสาอย่างเราเรา จะต้องสนใจกฎหมายฉบับนี้ ในเมื่อไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว

คำตอบมีอยู่ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะส่งผลให้ประชาชนอย่างเรา มีหลักประกันการคุ้มครองสิทธิที่มีมาตรฐานตามหลักสากล เพิ่มความเชื่อมั่นด้านกระบวนการยุติธรรม และเป็นหนึ่งในกฎหมายที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดการละเมิดสิทธิ

ส่วนไทม์ไลน์ของร่างกฎหมายฯนี้ ก็มีการวางโปรแกรมเอาไว้แล้ว เริ่มจากเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลาง www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ 4 - 31 ธันวาคม 2562 ผ่านเว็บไซต์ www.rlpd.go.th www.humanrightscenter.go.th และ facebook webpage ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระหว่างวันที่ 4 - 31 ธันวาคม 2562

จากนั้น จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติใน 5 ภูมิภาค นอกจากจะเชิญผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการ ยังมีโปรแกรมในการเชิญ “ผู้เสียหาย” ที่ต้องต่อสู้กับความทุกข์ต่อสู้กับคดีอุ้มหาย ที่บุคคลใกล้ชิด บุคคลในครอบครัว หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ได้มาร่วมเวทีและแสดงความคิดเห็น ไม่ให้สิ่งเลวร้ายนั้นเกิดขึ้นกับใครอีก