'Predictive policing' เทคโนโลยีการพยากรณ์ 'อาชญากรรม' ล่วงหน้า

'Predictive policing' เทคโนโลยีการพยากรณ์ 'อาชญากรรม' ล่วงหน้า

ทำความรู้จัก "Predictive policing" เทคโนโลยีการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้า เครื่องมือสำคัญที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในปี 2554 นิตยสาร TIME ยังจัดให้เป็น 1 ใน 50 นวัตกรรมที่ดีที่สุดของปี

ในโลกยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดด อาชญากรรมก็เริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้โดรนเพื่อขนส่งยาเสพติด การเกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์ และภัยการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ๆในด้านของการป้องกันอาชญากรรมเองก็มีการพัฒนามาโดยตลอด 

ในประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์อาชญากรรมโดยการทำแผนที่อาชญากรรม (Crime Mapping)ในปี 1829 นักภูมิศาสตร์ชาวอิตาลีและนักสถิติชาวฝรั่งเศสได้ออกแบบแผนที่อาชญากรรมเป็นครั้งแรก ได้รวมข้อมูลอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ 3 ปีย้อนหลังและข้อมูลด้านการศึกษา พบว่าพื้นที่ที่ประชากรมีระดับการศึกษาสูงกว่า มีความสัมพันธ์กับระดับการเกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สูงขึ้น จากนั้นได้พัฒนาทั้งในด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ สถานีตำรวจทั่วโลก รวมทั้งไทยก็ยังใช้แผนที่อาชญากรรม เช่น ระบบ Crime และ Crime Mobile ของไทยที่ช่วยให้ข้อมูลจากในอดีตเพื่อระบุพื้นที่และช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบดูแลพื้นที่เสี่ยงเป็นพิเศษและในช่วงเวลาที่มักเกิดเหตุ ซึ่งเป็นการช่วยให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของตำรวจให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งองค์ความรู้ทางวิชาการเพิ่มมากขึ้น แผนที่มีความทันสมัย ข้อมูลขนาดใหญ่มีเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งพลังการคำนวณของคอมพิวเตอร์ที่สูงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์และป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“Predictive Policing” หรือเทคโนโลยีการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้า เป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากคณิตศาสตร์และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อพยากรณ์อาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า

การพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้าแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ การพยากรณ์อาชญากรรม การพยากรณ์ผู้กระทำผิด การพยากรณ์ลักษณะผู้กระทำผิด และการพยากรณ์เหยื่อของอาชญากรรม เทคโนโลยีการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้าเป็นความหวังหนึ่งที่จะเป็นนวัตกรรมสำหรับหยุดอาชญากรรมก่อนที่จะเริ่มเกิดขึ้น โดยในเดือน พ.ย.2554 นิตยสาร TIME ได้ระบุให้ “Predictive Policing” เป็น 1 ใน 50 นวัตกรรมที่ดีที่สุดของปี

“Predictive policing” จะใช้ข้อมูลข้อมูลเชิงลึกแก่ตำรวจสายตรวจควรลาดตระเวนไป โดยจะใช้ 3 แนวทางหลัก คือ การวิเคราะห์พื้นที่ (Analysis of space) การวิเคราะห์เวลาและพื้นที่ (Analysis of time and space) และการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม (Analysis of social network) ซึ่งจะช่วยระบุจุดสถานที่และเวลาที่มีความเสี่ยงการเกิดอาชญากรรมสูง (Criminal hot spots) รวมถึงบุคคล กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรม

ในสหรัฐ มีการใช้เทคโนโลยีนี้ ในหลายรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย วอชิงตัน เซาท์แคโรไลนา ลอสแอนเจลิส อัลลาบามา อริโซนา เทนเนสซี นิวยอร์ค และอิลลินอยส์ รวมถึงถูกนำไปใช้ในสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และประเทศจีน

ปี 2008 สำนักงานตำรวจลอสแอนเจลิส (Los Angeles Police Department, LAPD) และสำนักงานความช่วยเหลือยุติธรรม (BJA) และสถาบันความยุติธรรมแห่งชาติ (NJI) เริ่มสำรวจแนวคิด “Predictive Policing เพื่อป้องกันอาชญากรรมล่วงหน้า นักวิจัยเสนอว่าเป็นไปได้ที่จะคาดการณ์อาชญากรรมบางอย่างเหมือนกับนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ผลกระทบแผ่นดินไหว ประสิทธิผลของการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้าถูกทดสอบ โดย ตำรวจ LAPD ในปี 2010 ซึ่งพบว่ามีความถูกต้องแม่นยำถึง 2 เท่าของแนวปฏิบัติปกติ

ในเมืองซานตาครูซ รัฐแคลิฟอร์เนีย การวิเคราะห์ฐานข้อมูลของเหตุการณ์ความผิดทางอาญา เพื่อคำนวณความน่าจะเป็นของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น คำนวณความน่าจะเป็นลงบนพื้นที่เมืองในช่วงการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่สามารถเข้าสู่ระบบเพื่อเห็นแผนที่และฮอตสปอตของการเกิดอาชญากรรมแบบเรียลไทม์

ที่เมืองซานตาครูซ พบว่าการปฏิบัติตามการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้า ในระยะเวลา 6 เดือนส่งผลให้จำนวนอาชญากรรมลดลง 19% ในเมืองเคนต์ สหราชอาณาจักร พบว่า 8.5% ของอาชญากรรมบนท้องถนนทั้งหมดเกิดขึ้นในสถานที่ที่ predictive policing พยากรณ์ไว้ซึ่งดีกว่าการวิเคราะห์ปกติ ในเมืองเรดดิ้ง เพนซิลเวเนีย พบว่าช่วยให้เหตุการปล้นทรัพย์ในเมืองลดลงกว่า 23% ในประเทศจีน สำนักงานตำรวจซูโจว นำระบบ “Predictive Policing” มาใช้ตั้งแต่ปี 2013 และในช่วงปี 2015-2018 มีหลายเมืองในประเทศจีน เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลหลายประการ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัว และอาจละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการมีอคติต่อข้อมูลในอดีตที่จะใช้สำหรับพยากรณ์อนาคต เช่น สีผิว เชื้อชาติของผู้กระทำผิดในอดีต

รายงานของ RAND Corporation ชี้ว่าเทคโนโลยีการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้ายังไม่ใช่ลูกบอลคริสตัลที่สามารถบอกล่วงหน้าได้ แต่มีประโยชน์ในการช่วยระบุคน เวลาและสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดขึ้นอาชญากรรมได้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการจัดสรรทรัพยากรของเจ้าหน้าที่

โดยแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ยังคงเป็นแนวทางทางของการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง ความเชื่อใจไว้วางใจกันระหว่างตำรวจกับประชาชนในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมร่วมกัน และการใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุดและเท่าทันกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ในอนาคต