เงินกู้ซอฟท์โลน ลมหายใจภาคธุรกิจ

เงินกู้ซอฟท์โลน ลมหายใจภาคธุรกิจ

"ซอฟท์โลน" หนึ่งในมาตรการที่รัฐออกมาช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในวงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาองค์กรเอกชนออกมาแสดงความเห็นถึงปัญหาความล่าช้าอนุมัติสินเชื่อและอื่นๆ ดังนั้นภาครัฐต้องหาจุดร่วมให้สินเชื่อนี้บรรลุเป้าหมายให้ได้

ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 หลายมาตรการ โดยมาตรการสำคัญเป็นมาตรการเกี่ยวกับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งออกเป็น พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.2563

สินเชื่อซอฟท์โลนก้อนนี้มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาผลกระทบของเอสเอ็มอี ซึ่งสินเชื่อซอฟท์โลนที่ได้รับอนุมัติแล้ว ธปท.รายงานสถานะวงเงินปล่อยกู้ในปัจจุบันอยู่ที่ 80,701 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับซอฟท์โลน 51,991 ราย หรือคิดเป็นสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติเฉลี่ยต่อราย 1.6 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท แน่นอนว่าเอสเอ็มอีที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจะมีสายป่านให้ก้าวพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้

ช่วงที่ผ่านมาองค์กรเอกชนออกมาแสดงความเห็นถึงความล่าช้าในการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่มีทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ก็ได้หารือเรื่องนี้อยู่ตลอด รวมถึง ธปท.เองก็ได้หารือปัญหาและอุปสรรคกับธนาคารพาณิชย์ว่าติดขัดที่ปัญหาใดจึงทำให้การปล่อยสินเชื่อมีความล่าช้า

ในขณะที่ภาคเอกชนได้ทยอยแสดงความเห็นให้กับ ธปท.ถึงอุปสรรค ทั้งปัญหาในเชิงนโยบาย เช่น หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ รวมถึงปัญหาที่สถาบันการเงินตั้งขึ้นมาเพื่อคัดกรองผู้ยื่นขอสินเชื่อ รวมถึงการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงปัญหา ซึ่งมีการสั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงซอฟท์โลน ถือเป็นความพยายามของทุกฝ่ายที่จะแก้ปัญหานี้

ประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์กังวลสำคัญที่สุด คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ รวมถึงปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหากมองในมุมของสถาบันการเงินก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนให้สินเชื่อ เพราะท้ายที่สุดหากเกิดหนี้เสียขึ้นมาแล้ว ธนาคารพาณิชย์ผู้กลายเป็นรับภาระที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเงินกู้ซอฟท์โลนไม่ถึงมือผู้ประกอบการจะทำให้ไม่บรรลุเป้าหมายที่จะช่วยผู้ประกอบการให้พ้นวิกฤติโควิด-19 ดังนั้นภาครัฐจึงต้องหาจุดร่วมให้สินเชื่อนี้บรรลุเป้าหมายให้ได้