เปิดแผนลงทุนพลังงาน 1.1 ล้านล้านบาท ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

เปิดแผนลงทุนพลังงาน 1.1 ล้านล้านบาท ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

“สมคิด” สั่ง ปตท.-กฟผ.ดึงงบปี 63-64 เร่งลงทุน เพิ่มจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด “สนธิรัตน์” อัดแผนลงทุน 3 ปี วงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ปั๊มเศรษฐกิจ ลุยเปิดรับซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุม 1 ก.ค.นี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาประชุมมอบนโยบาย “พลังงานสร้างไทย” ให้กับผู้บริหารกระทรวงพลังงานและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงานทั้งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้พลังงานเข้ามามีส่วนผลักดันเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19

นายสมคิด กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 เป็นที่ทราบกันดีทุกประเทศทั่วโลกประสบปัญหาที่ท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกผ่านพ้นไปได้แล้ว แต่ช่วงครึ่งปีหลังทุกฝ่ายจะต้องมาดูว่าทำอย่างไรได้บางเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วน ปตท.จะต้องไปดูว่าจะเร่งรัดการลงทุนในปี 2563-2564 อย่างไร โดยต้องไม่พลาดเป้าและถ้าดำเนินการไม่ได้ก็ต้องปรับแผนหาทิศทางใหม่ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงต้องเชื่อมโยงภาคการเกษตรและท่องเที่ยว

ขณะที่ กฟผ.ถือว่าเป็นองค์กรที่แข็งแรงมาก โดยปี 2563 เสียสละลดต้นทุนด้านพลังงาน แต่ต้องคิดต่อว่าจะเข้ามาช่วยดูแลผู้ตกงานได้อย่างไร รวมทั้งสามารถปรับลดต้นทุนพลังงานเพิ่มเติมทั้งค่าไฟ NGV และ LPG ได้อย่างไร

“ปตท.ปีนี้หนัก ผลการดำเนินงานก็ขาดทุนอยู่แล้ว ราคาน้ำมันไม่ดี แต่ต้องเร่งลงทุน ดูว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ตอนนี้หุ้นตกถ้าต่อไปเศรษฐกิจดี คนจะมีเงินมาซื้อหุ้น สะท้อนกลับไปผลการดำเนินงานได้ ฉะนั้น ปตท.และ กฟผ.ต้องไปรีวิวแผนลงทุน”

159309110484

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนงานด้านพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จะดำเนินการ 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.ลดรายจ่ายแก่ประชาชนช่วงโควิด-19 รวมกว่า 40,500 ล้านบาท ผ่านมาตรการช่วยเหลือสำคัญ เช่น ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG การยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum charge) ถึง ก.ย.2563

การตรึงราคาแก๊สหุงต้มถึง ก.ย.2563 และจะพิจารณาขยายไปถึง ธ.ค.2563 รวมทั้งการช่วยเหลือส่วนต่างราคา NGV สำหรับรถสาธารณะ โดย ปตท.เหลือส่วนต่างราคาถึง ก.ค.2563

2.เร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน ในช่วงปี 2563-2565 วงเงินลงทุนรวม กว่า 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

ปี 2563 ลงทุน 203,770 ล้านบาท

ปี 2564 ลงทุน 457,473 ล้านบาท

ปี 2565 ลงทุน 450,250 ล้านบาท

สำหรับปี 2563 สร้างการจ้างงานกว่า 10,000 คน จะเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ รวมทั้งเริ่มดำเนินการ LNG Hub เริ่มการลงทุนพัฒนา Grid Modernization และศึกษาความเป็นไปได้ของ Grid Connectivity กับประเทศเพื่อนบ้าน การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม และเร่ง LNG receiving Terminal

3.กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูหลังโควิด-19 รวมกว่า 30,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน ซึ่งต่อจากนี้ กฟผ.จะกระตุ้นให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนโรงไฟฟ้าและท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย และ ปตท.จะจัด Living Community Market Place และเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue card 

รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีแผนที่จะขยายสายส่งไฟฟ้าเพื่อผันแม่น้ำยวมสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพลเพื่อชลประทาน และยังช่วยลดปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ด้วย รวมไปถึงการพิจารณาหาแนวทางการนำไฟฟ้าส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ กฟผ.จะตั้งบริษัท Innovation Holding ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กฟผ.ถือหุ้น 40% บริษัทราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 30% และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 30% เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology ผลักดันการพัฒนา E-Transportation ให้ครบวงจร

ลุยโรงไฟฟ้าชุมชนตามแผน

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 700 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ปรับปรุง ในวันที่ 30 มิ.ย.2563 และจะดำเนินการออกประกาศรับสมัครยื่นข้อเสนอโครงการฯประเภทเร่งด่วน (Quick Win ) 100 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ 1 ก.ค.2563 และประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกกลางเดือน ส.ค.2563 พร้อมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เดือน พ.ย-ธ.ค.2563 และเริ่มลงทุนต้นปี 2564

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ คาดว่าเปิดรับสมัครโครงการ เดือน ต.ค.-ธ.ค.2563 โดยในส่วนโรงไฟฟ้าชุมชน 2563-2565 จะมีเม็ดเงินลงทุนและรายได้รวม 41,900 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 10,000 คน

นอกจากนี้ จะมีการใช้ระบบบล็อคเชนเข้ามาช่วยในการซื้อขายปาล์มภาคพลังงานทั้งระบบ จะเกิดการหมุนเวียนรายได้กว่า 14,000 ล้านบาท พร้อมขอให้ ปตท.ช่วงซื้อสต็อก B100 ล่วงหน้าที่ผ่านระบบระบบบล็อคเชนในปริมาณ 20-30 ล้านลิตร เพื่อหวังกระตุ้นราคาผลปาล์มสดให้สอดรับกับราคา B100 และน้ำมันปาล์มดิบ (CPO)