สศก.ชี้ผลผลิตเกษตรปีนี้โต สนอง“สัดส่วนส่งออก”เพิ่ม

สศก.ชี้ผลผลิตเกษตรปีนี้โต  สนอง“สัดส่วนส่งออก”เพิ่ม

สศก.ชี้ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญแนวโน้มโตต่อเนื่อง ปัจจัยราคาพุ่งทำเพิ่มพื้นที่ปลูกหลังคลายกังวลภัยแล้ง ศัตรูพืช สอดคล้องสัดส่วนส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มจาก17% เป็น 27% ด้านกรมชลเตือนฝนทิ้งช่วงกลางก.ค.

นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ว่า การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญปีนี้คาดว่าผลผลิตสินค้าหลายชนิดจะเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังโรงงาน โดยหากพิจารณาสินค้าแต่ละชนิด พบว่า ข้าวนาปี ปี 2564 (ปีเพาะปลูก 2563/64) เริ่มปลูกเดือนพ.ค.- ต.ค. 2563 เก็บเกี่ยวช่วงส.ค. 2563 - ก.พ. 2564 คาดว่าเนื้อที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ 60.49 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.15% ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 25.18 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 4.17% โดยผลผลิตต่อ เนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 416 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 4%

159308409317

ทั้งนี้ปริมาณน้ำปี2563 ที่มากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกจากที่นาที่ปล่อยว่างเมื่อปีที่แล้วและบางส่วนปลูกแทนอ้อยโรงงานที่ครบอายุ เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี จึงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ไม่มากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง ระหว่างฤดูกาลเพาะปลูก

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2563 (ปีเพาะปลูก 2563/64)เนื้อที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ 6.66 ล้านไร่ ลดลง 0.97% ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 4.67 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.36% ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูก ทั้งประเทศ 701 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 9.53%เนื้อที่เพาะปลูกลดลงเนื่องจากเกษตรกรเกรงว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งและหนอนกระทู้ดังเช่นปีที่ผ่านมา อีกทั้งต้นทุนการบำรุงดูแลรักษาที่สูงขึ้น จึงปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังที่ทนแล้ง และปลูกสับปะรดโรงงานที่ราคากำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีการปล่อยเป็นที่ว่าง ส่วนเนื้อที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรเกรงว่าจะขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ประกอบกับภาครัฐยังไม่มีโครงการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหมือนปีที่ผ่านมา เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดตัดต้นสด ถั่วเขียว ปอเทือง และปล่อยว่าง

มันสำปะหลังโรงงานปี 2564 (ปีเพาะปลูก 2563/64)ทั้งประเทศ 8.84 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 1.20% ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 29.90 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.83% ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว ทั้งประเทศ 3,382 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 3.58% โดยเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ทุกภาค

ช่วงเดือนมิ.ย. 2563 คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะเพียงพอในช่วงมันสำปะหลังเริ่มลงหัวและสะสมอาหาร ประกอบกับเกษตรกรสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและกำจัดโรคใบด่างได้มากขึ้น ใช้ท่อนพันธุ์ดีและไม่เป็นโรค จึงส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าในรายการสินค้าส่งออกของไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารในช่วงล็อกดาวน์ของโลกได้ดีช่วงพ.ค. 2563ที่ผ่านมาทำให้สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผักและผลไม้ หลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจีน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สด แช่เย็นและแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 10 เดือน ทำให้สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและและอุตสาหกรรมเกษตรยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่22.7% จาก 17.1%

“แนวโน้มผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวเร่งภาคการส่งออกให้ขยายตัวหรือติดลบน้อยลงเพราะสินค้าเกษตรเริ่มมีสัดส่วนต่อการส่งออกมากขึ้นหากไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่นทั้งด้านความปลอดภัยและปริมาณสินค้าตอบสนองตลาดได้อย่างดีเชื่อว่าปีนี้การส่งออกจะได้รับอานิสงค์จากภาคเกษตรฯอย่างสูงมาก”

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ไทยยังไม่พ้นจากปัญหาภัยแล้งโดยนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ได้รายงานว่าตั้งแต่ปลาย มิ.ย.-กลาง ก.ค.นี้ ปริมาณฝนจะลดลง เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือสถานการณ์แล้งในหน้าฝน ดังนั้น พื้นที่ยังไม่ได้ทำนาปี ควรเริ่มทำนาปีช่วงหลังกลางเดือน ก.ค.เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีฝนตกชุก และมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่