ชงต่อ 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' 1 เดือน

ชงต่อ 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' 1 เดือน

คกก.เฉพาะกิจผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 เตรียมชงศบค.ชุดใหม่ ขยาย "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ครอบคลุม ก.ค.ทั้งเดือน หวั่นระบาดระลอกสองหลังเปิดภาคเรียน ยันเพื่อควบคุมโรคไม่มีนัยยะทางการเมือง

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.63  พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวภายหลัง การประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณามาตรการผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการในการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องต่อขยายเวลา การบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เวลาต่อ 1 เดือน ครอบคลุมกรกฎาคมทั้งเดือน เพื่อความต่อเนื่องกับการผ่อนคลายระยะ 5 ซึ่งเป็นกิจการสีแดงที่มีความเสี่ยงมาก หากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องใช้กฎหมายไม่ต่ำกว่า 5 ฉบับ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเท่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะมาตรการป้องการโรคเชิงรุก โดยจะนำมติดังกล่าวเข้าที่ประชุม ศบค.ในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 30 มิถุนายนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ทั้งนี้ ยืนยันการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่มีนัยยะทางการเมือง และหากพบว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ และให้เชื่อได้ว่าไม่มีการระบาดรอบสอง ก็สามารถยกเลิกได้ตลอดเวลา ซึ่งการประเมินการต่อขยายพ.ร.ก.โดยปกติจะเป็นครั้งละ 3 เดือน แต่ขณะนี้ประเมินสถานการณ์เดือนต่อเดือน รวมถึงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญในการปกป้องเด็กและคนชรา ดังนั้นการเปิดเทอมในเดือนก.ค. เด็กและผู้ปกครองจะออกมารวมตัวมากขึ้น ทั้งในระบบขนส่งต่างๆ ด้วยเหตุผลนี้จะต้องต่อการใช้พ.ร.ก.อีกระยะหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมที่ล่อแหลมนี้ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการควบคุม

อีกทั้งกลยุทธ์ที่สำคัญต้องการควบคุมไม่นำเข้าเชื้อเข้าประเทศ และการรักษาตรวจหาเชื้อคนในประเทศ ทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมโรคอยู่ในแนวทางที่ดีได้รับความชื่นชม สนามกีฬาแข่งขัน สามารถแข่งขันได้ตามปกติ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าชมได้ เพราะไม่ต้องการให้คนอยู่ในที่แออัดเวลานาน และยังต้องรอไปก่อน รอการประเมินหลังคลายล็อกระยะที่ 5 ไปแล้ว 15 วัน หรือสถานการณ์โลกดีขึ้น

ส่วน travel bubble นั้นยังไม่มีข้อยุติ การจะปล่อยให้นักท่องเที่ยวเดินเข้ามาในประเทศเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องมีมาตรการที่คุมเข้มมาก แต่จะผ่อนปรนให้นักธุรกิจที่มีความจำเป็นโดยจะพิจารณาให้ก่อน แต่ไม่ใช่ว่าจะรับมั่ว ๆ แต่ต้องดูว่ามีผลให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องเข้ามาในระดับที่ควบคุมได้ เช่น บริหารจัดการเที่ยวบิน ตรวจโควิด-19 ตั้งแต่ต้นทาง-ก่อนออกประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมด้วยแอพพลิเคชั่นในติดตาม พลเอกสมศักดิ์ ยังยืนยันอีกว่า

ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดแสดงตนติดต่อเข้ามาเจรจาจับคู่การท่องเที่ยว เช่นเดียวกับ Medical torism ที่มีข้อกังวลว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามารักษาโควิด-19 ภายในประเทศนั้น ยืนยันว่า นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามารักษาตัวภายในประเทศไทยได้