'วันสุนทรภู่' 26 มิถุนายน เปิดประวัติกวีดัง ไม่ใช่คนระยอง?

'วันสุนทรภู่' 26 มิถุนายน เปิดประวัติกวีดัง ไม่ใช่คนระยอง?

เนื่องใน "วันสุนทรภู่" 26 มิถุนายน ชวนคนไทยรู้จักประวัติ "สุนทรภู่" นักกวีผู้ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม

เชื่อว่าคนไทยหลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดว่า “สุนทรภู่” หรือ “พระสุนทรโวหาร” เป็นชาวจังหวัดระยอง ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่! มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า “สุนทรภู่” เกิดที่กรุงเทพฯ เรียกว่าเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด แต่ท่านมีความผูกพันกับท้องถิ่นอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ก็เนื่องจากเป็นภูมิลำเนาของผู้เป็นบิดา

ไม่ใช่แค่ประเด็นนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับ “สุนทรภู่” ที่คุณอาจจะยังไม่รู้ เนื่องใน “วันสุนทรภู่” 26 มิถุนายน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักประวัติของกวีไทยชื่อดังคนนี้กันอีกครั้ง เพื่อเป็นการย้อนรำลึกถึงสุดยอดผลงาน “วรรณคดีไทย” ของท่าน ที่เราทุกคนได้เคยผ่านบทเรียนกันมาในวิชาภาษาไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1. “สุนทรภู่” เกิดที่วังหลัง กรุงเทพฯ

สุนทรภู่ มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของ “พระราชวังหลัง” ซึ่งก็คือบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบันนี้ เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม

ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น “สุนทรภู่” จึงได้อาศัยอยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม

2. ต้นตระกูลของ “สุนทรภู่”

บันทึกส่วนใหญ่มักระบุถึงต้นตระกูลของสุนทรภู่เพียงว่า บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองอื่น ทั้งนี้เนื่องจากเชื่อถือตามพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อง “ชีวิตและงานของสุนทรภู่” ต่อมาในภายหลังมีการค้นพบข้อมูลต่างๆ มากยิ่งขึ้น นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าฝ่ายบิดาเป็นชาวเมืองแกลงจริง เนื่องจากมีปรากฏเนื้อความอยู่ในนิราศเมืองแกลง ถึงวงศ์วานเครือญาติของสุนทรภู่ ส่วนฝ่ายมารดา พบบันทึกว่าตระกูลฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี สืบเนื่องจากเนื้อความใน “นิราศเมืองเพชร” ฉบับค้นพบเพิ่มเติมโดย ล้อม เพ็งแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2529

159308224890

3. ชีวิตวัยเด็ก “สุนทรภู่” เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว

หลังจากบิดามารดาหย่าร้างกัน ช่วงชีวิตในวัยเด็กของ “สุนทรภู่” ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (ปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย) ตามเนื้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏในนิราศสุพรรณ

ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม ในช่วงวัยก่อนอายุ 20 ปี มีบันทึกพบว่าสุนทรภู่ได้ประพันธ์กลอนนิทานเรื่อง “โคบุตร” (แต่งขึ้นก่อนที่จะมีผลงานนิราศเมืองแกลง)

4. ชีวิตวัยหนุ่มและความรักของ “สุนทรภู่”

สุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งบังเอิญเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล สุนทรภู่จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วมาก ถึงขนาดสั่งให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล

หลังจากออกจากคุกก็เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่ง “นิราศเมืองแกลง” พรรณนาสภาพการเดินทางต่างๆ เอาไว้โดยละเอียด ในนิราศได้บันทึกสมณศักดิ์ของบิดาไว้ด้วยว่าเป็น "พระครูธรรมรังษี" เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ กลับจากเมืองแกลงสุนทรภู่ได้แม่จันเป็นภรรยา และต่อมาในปี พ.ศ. 2350 สุนทรภู่ยังได้ประพันธ์ “นิราศพระบาท” ขึ้นอีกด้วย  สุนทรภู่กับแม่จันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อหนูพัด จากนั้นไม่นานสามีภรรยาคู่นี้ก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป

5. ช่วงชีวิตของ “สุนทรภู่” ในสมัยรัชกาลที่ 2

สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในสมัยรัชกาลที่ 2  เมื่อแรกสุนทรภู่รับราชการเป็นอาลักษณ์ปลายแถว มีหน้าที่เฝ้าเวลาทรงพระอักษรเพื่อคอยรับใช้ แต่มีเหตุให้ได้แสดงฝีมือกลอนของตัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงแต่งกลอนบทละครเรื่อง “รามเกียรติ์​” ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น “ขุนสุนทรโวหาร”

บทกลอนในรามเกียรติ์ที่สุนทรภู่ได้แต่งในคราวนั้นคือ ตอนนางสีดาผูกคอตาย และตอนศึกสิบขุนสิบรถ จากนั้นไม่นานสุนทรภู่ได้เลื่อนยศเป็น “หลวงสุนทรโวหาร” ได้รับพระราชทานบ้านหลวงอยู่ที่ท่าช้าง ใกล้กับวังท่าพระ และได้เป็นหนึ่งในคณะร่วมแต่ง “ขุนช้างขุนแผน” ขึ้นมาใหม่

159308224810

6. “สุนทรภู่” ถูกจำคุกเป็นครั้งที่ 2

ระหว่างรับราชการ สุนทรภู่ต้องโทษจำคุกอีกครั้ง เพราะถูกอุทธรณ์ว่าเมาสุราทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แต่จำคุกได้ไม่นานก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ ภายหลังพ้นโทษสุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และช่วงเวลานั้นเองเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง “สวัสดิรักษา” ขึ้นมาด้วย และระหว่างรับราชการอยู่นี้สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อพ่อตาบ

7. “สุนทรภู่” ออกบวชนานถึง 18 ปี

สุนทรภู่รับราชการอยู่เพียง 8 ปี พอมาถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวช สุนทรภู่บวชอยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่างๆ หลายแห่ง เท่าที่พบข้อมูลในงานเขียนของท่าน ได้แก่ วัดเลียบ วัดแจ้ง วัดโพธิ์ วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่างๆ มากมาย 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2385 ภิกษุภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม คืนหนึ่งหลับฝันเห็นเทพยดาจะมารับตัวไป เมื่อตื่นขึ้นคิดว่าตนถึงฆาตจะต้องตายแล้ว จึงประพันธ์เรื่อง “รำพันพิลาป” ขึ้นมา โดยพรรณนาถึงความฝันและเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ประสบมาในชีวิต หลังจากนั้นก็ลาสิกขาบทเพื่อเตรียมตัวจะตาย ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุได้ 56 ปี

8. กลับมารับราชการอีกครั้ง สมัยรัชกาลที่ 3 

หลังจากลาสิกขาบทในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ได้รับพระอุปถัมภ์จากเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ รับราชการสนองพระเดชพระคุณทางด้านงานวรรณคดี ชีวิตช่วงนี้สุนทรภู่ได้แต่ง “เสภาพระราชพงศาวดาร” “บทเห่กล่อมพระบรรทม” และบทละครเรื่อง “อภัยนุราช” รวมถึงยังแต่งเรื่อง “พระอภัยมณี” ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย

159308224988

9. จากหลวงสุนทรโวหาร สู่ “พระสุนทรโวหาร”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 4) และทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ช่วงระหว่างเวลานี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร

10. “สุนทรภู่” ถึงแก่อนิจกรรมในวัย 69 ปี

สุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า “ห้องสุนทรภู่” เชื่อว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี

จากกวีไทยผู้โด่งดังในยุคสมัยนั้น มาจนถึงวันนี้ความสามารถและทักษะด้านวรรณกรรมของท่านยังคงเป็นที่ประจักษ์เสมอมา โดยสุนทรภู่ได้รับการยกย่องให้เป็นเชกสเปียร์ของเมืองไทย และในปี พ.ศ. 2529 เป็นโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล “สุนทรภู่” ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม และมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดบิดาของท่านด้วย