เปิดใจ ‘ลี เซียนหยาง’ เห็นคนอื่นดีกว่าพี่!!

เปิดใจ ‘ลี เซียนหยาง’ เห็นคนอื่นดีกว่าพี่!!

เปิดใจ “ลี เซียนหยาง” น้องชายคนสุดท้อง ของนายกฯ "ลี เซียนหลุง" แห่งสิงคโปร์ กับการตัดสินใจเข้าร่วมพรรคฝ่ายค้าน

ข่าวใหญ่ของเอเชียวานนี้ (24 มิ.ย.) หนีไม่พ้น "ลี เซียนหยาง" น้องชายคนสุดท้องวัย 62 ปี ของนายกรัฐมนตรี "ลี เซียนหลุง" แห่งสิงคโปร์ เข้าร่วมพรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (พีเอสพี) พรรคฝ่ายค้านใหม่หมาดเพิ่งเปิดตัวเมื่อปีก่อนโดย "ตัน เฉิง บ็อก"

เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชียรายงาน ตันเป็นคนประกาศข่าวเองเมื่อช่วงเช้าวานนี้ หลังรับประทานอาหารเช้ากับลี เซียนหยาง ที่ตลาดเตียงบารู

“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบบัตรสมาชิกพรรคพีเอสพีให้กับลี เซียนหยาง คุณลีเข้าพรรคเรามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ตอนนั้นยังบอกไม่ได้ ตอนนี้เราบอกได้แล้ว เช้านี้ผมจึงถือโอกาสมอบบัตรอันทรงเกียรตินี้ให้กับเขา”

ขณะที่เจ้าตัวเผยว่า เข้าร่วมพรรคพีเอสพีเมื่อราว 3 เดือนก่อน เพราะชอบใจที่พีเอสพีตั้งใจแก้ปัญหาประเทศหลายอย่าง เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ความยากจน การบริหารและความโปร่งใส รวมถึงการเคหะ

จริงๆ แล้วสายสัมพันธ์ระหว่าง "ตัน" กับ "เซียนหยาง" มีมาก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ก.ค.2562 ตันกล่าวว่า เขายินดีต้อนรับหาก เซียนหยางจะมาร่วมกับพรรคพีเอสพี

ส่วน "เซียนหยาง" ที่มีคนเห็นออกงานร่วมกับตันมากกว่า 1 ครั้ง เคยโพสต์เฟซบุ๊คเมื่อก่อนหน้านี้ว่า “ตันสมควรได้เป็นผู้นำสิงคโปร์”

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 เขาก็โพสต์ถึงตันในทำนองเดียวกันนี้

“ผมรู้จักเฉิง บ็อกมานานหลายปี เขาให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด เราโชคดีที่เขาขยับออกมารับใช้ชาติอีกขั้นหนึ่ง”

159307341068

สำหรับการเข้าพรรคพีเอสพีของเซียนหยาง ตันไม่ได้ยืนยันว่าจะลงเลือกตั้งในวันที่ 10 ก.ค.ด้วยหรือไม่ เส้นตายส่งรายชื่อผู้สมัครต้องภายในวันที่ 30 มิ.ย.

เฉิง บ็อก วัย 80 ปี เป็นอดีตสมาชิกพรรคพีเอพี ก่อตั้งพรรคพีเอสพีเมื่อเดือน มี.ค.ปีก่อน ผลงานการเมืองในอดีต เขาลาออกจากพรรคพีเอพี ในปี 2554 มาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสิงคโปร์ แต่พ่ายแพ้ให้แก่ โทนี ตัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากนายกฯ ลี ด้วยคะแนนเฉียดฉิวเพียง 0.35% เท่านั้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่น้องชายต้องมาร่วมพรรคการเมืองของคนนอก ไม่อยู่ร่วมพรรคพีเอพีของพี่ชาย ที่บิดา “ลี กวนยู” เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ก็เพราะ เซียนหยางมองว่า พรรคพีเอพีออกนอกลู่นอกทางไปแล้ว ส่วนตัวเขาเห็นด้วยกับหลักการและค่านิยมของพรรคพีเอสพีมากกว่า

“ผมมาร่วมพรรคพีเอสพีเพราะคิดว่า ตันมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับประเทศชาติและประชาชนสิงคโปร์ เขารักประเทศและรวมคนที่มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกับเขามาอยู่ด้วยกัน”  ลี เซียนหยางกล่าว

ขณะที่ตัน พูดถึงลี เซียนหยางว่า “ไม่ใช่ผู้ชายธรรมดาๆ พ่อของเขาคือผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ เขาจึงสำคัญมากๆ”

จะว่าไปแล้วพรรคพีเอสพี ไม่ได้สะเทือนอำนาจอันยาวนานของพรรคพีเอพีเลยแม้แต่น้อย แต่ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า การจับมือกันระหว่างหนึ่งในสมาชิกตระกูลลีกับตัน อาจดึงคะแนนเสียงจากคนที่เคยเลือกพรรครัฐบาลได้

นอกจากนี้อาจมีเหตุผลเรื่องความไม่ลงรอยกันของทายาทตระกูลลีด้วย 3 พี่น้อง ได้แก่ ลี เซียนหลุง วัย 68 ปี ลี เหวยหลิง วัย 65 ปี และลี เซียนหยาง ขัดแย้งกันออกสื่อในช่วงหลายปีหลัง นับตั้งแต่ลี กวนยู ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2558 เรื่องบ้านพักบิดาซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 38 ถ.อ็อกซ์ลีย์

ความขัดแย้งออกสู่สายตาสาธารณชนอย่างชัดเจนในเดือน มิ.ย.2560 เมื่อ เหวยหลิง และเซียนหยาง ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ในหัวข้อ “เกิดอะไรขึ้นกับคุณค่าของลี กวนยู” สรุปได้ว่า บิดาสั่งเสียให้ทุบบ้านเลขที่ 38 ทิ้งไปเมื่อตนเสียชีวิต เพราะไม่อยากให้คนมาเคารพจนกลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคล และถ้าไม่ทุบทิ้งบ้านจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์

159307289178

“ความนิยมในตัวเขาแยกกันไม่ออกกับตำนานของลี กวนยู” แถลงการณ์สองพี่น้องระบุ แต่นายกฯลี เชื่อว่า รัฐบาลต้องเป็นคนตัดสินว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับบ้านหลังนี้

รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาตัดสินอนาคตของบ้าน รายงานคณะกรรมการในปี 2561 ระบุว่า รัฐบาลในอนาคตจะเป็นตัดสินใจขั้นสุดท้ายจาก 3 ทางเลือกคือ อนุรักษ์บ้านไว้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ อนุรักษ์ไว้บางส่วน หรือ รื้อทิ้ง

บ้านประวัติศาสตร์หลังนี้ราคาประเมินเมื่อปี 2560 อยู่ที่ราว 24 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งพี่น้องยืนยันว่า ความขัดแย้งไม่เกี่ยวกับเงิน

ปัจจุบันบ้านเป็นของเซียนหยาง โดยเหวย หลิงยังอาศัยอยู่ที่นั่น ซึ่งจะทำอะไรกับบ้านไม่ได้จนกว่าเหวยหลิงเลือกที่จะย้ายออกไป

ด้านนายกฯลี ให้ข้อมูลว่า พ่อยกบ้านให้ตนเป็นมรดก จากนั้นตนจึงขายให้น้องชายในราคาตลาด เงินที่ได้บริจาคให้การกุศล ส่วนคำที่น้องๆ กล่าวหาว่า ตนเก็บตำนานพ่อไว้แสวงหาประโยชน์ทางการเมืองนั้น ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย