โครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ เดินหน้าช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

โครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ เดินหน้าช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

โควิด-19 ไม่ใช่อุปสรรค! โครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ เดินหน้าช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องแบบครบวงจร

โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ปฏิบัติงานต่อเนื่อง ถ่ายทอดความรู้การเพาะปลูกพืชผักเพื่อบริโภคในครัวเรือนผ่านโลกออนไลน์ พร้อมแจกวัสดุชุดพร้อมปลูกแก่ประชาชนที่สนใจ ผลตอบรับดี เมื่อสถานการณ์ปกติทุกคนออกจากบ้าน ศูนย์ฯ พร้อมรับเพื่อศึกษาชมงาน จัดแปลงสาธิตการผลิตแบบครบวงจร การปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมเขาหัวโล้นให้สามารถปลูกพืชได้ พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริ สืบสาน รักษา ต่อยอด ขยายผลสำเร็จสู่การปฏิบัติจริงของประชาชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตสู่การตลาด

นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด รัฐบาลมีมาตรการในการป้องกันด้วยการลดการเคลื่อนไหวในสังคม ขณะที่ทุกคนยังต้องบริโภคการเรียนรู้เพื่อการผลิตแบบพึ่งพาตนเองให้มีกินมีใช้อย่างเพียงพอไม่ขัดสน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ นำมาเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือประชาชน

โดยมีการจัดทำบทเรียนเพื่อการนำไปปฏิบัติแบบใช้ได้จริงไม่ซับซ้อน ทุกคนสามารถทำเองที่บ้านได้ ทั้งที่มีพื้นที่บริเวณบ้าน หรือมีน้อย ตลอดจนผู้อาศัยอยู่ในเมือง เช่น คอนโดมีเนียมก็สามารถทำได้ ด้วยการจัดทำวิดีโอแบบสั้นจบในตอนเดียว ออกเผยแพร่ในช่องทางของ YouTube และ Facebook ของเขาชะงุ้ม เช่น การตอนกิ่ง การปลูกพืชอายุสั้นเพื่อบริโภค ซึ่งปลูกไม่กี่วันสามารถเก็บผลผลิตมาบริโภคได้ พร้อมจัดทำชุดพร้อมปลูก ประกอบด้วย ตะกร้าไม้ไผ่ ดินผสมพร้อมปลูก และเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งจะเป็นผักหลายชนิดแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจ ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกับศูนย์ฯ ก็จะมารับด้วยตนเอง ส่วนที่อยู่ห่างไกลที่แจ้งความจำนงมาก็จะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก นับว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าภูมิใจยิ่ง

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะประชาชนบริเวณรอบศูนย์ฯ หรือเกษตรกรขยายผลของศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามและให้คำแนะนำในการเพาะปลูกช่วงที่ทุกคนอยู่กับบ้าน พบว่าเกษตรกรมีผลผลิตแต่ไม่สามารถนำออกไปจำหน่ายในแหล่งรับซื้อตามปกติเช่นที่ผ่านมาได้ เนื่องจากตลาดปิด ทางศูนย์ฯ จึงจัดพื้นที่บริเวณหน้าศูนย์ฯ ให้นำผลผลิตมาจำหน่าย ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก็จะเดินทางมาซื้อไปบริโภค ทำให้สามารถกระจายผลผลิตของเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง

159306354893

“จากการดำเนินการในช่วง 3 เดือน ที่มีการลดการเคลื่อนไหวในสังคมพบว่า เกษตรกรให้ความสนใจกับโครงการต่าง ๆ ของศูนย์ฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเพาะปลูกแบบพึ่งพาตนเอง เช่น การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำกระถางย่อยสลาย เพราะสามารถหาวัสดุที่มีอยู่มาเป็นปัจจัยผลิตโดยไม่ต้องเดินทางไปหาซื้อ ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ ยังมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่ของศูนย์ฯ ช่วงที่สถานการณ์ปกติและทางการเปิดให้ประชาชนเดินทางข้ามพื้นที่ได้ ด้วยการปรับปรุงพื้นที่สาธิตการเรียนรู้ เช่น การผลิตปุ๋ยหมัก การผลิตมูลไส้เดือน การจัดทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ตลอดถึงการปลูกพืชผักทั้งเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของพื้นที่การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก เพื่อการเข้ามาศึกษาดูงานและนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของชุมชนต่าง ๆ ที่มีพื้นที่ป่าชุมชนอยู่เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และการแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้นที่ดินเสื่อมโทรมให้สามารถนำมาทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น” นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย กล่าว

ผู้อำนวยการโครงการฯ เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ผลสำเร็จในการดำเนินการของศูนย์ฯ หากประชาชนเดินทางเข้ามาศึกษาด้วยตนเองก็จะทราบอย่างเป็นรูปธรรมว่า พื้นที่จากสภาพบ่อลูกรังหรือภูเขาหัวโล้นในอดีตก็สามารถแก้ไขเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ และสามารถทำได้หลากหลายชนิด ตั้งแต่การปลูกพืชผัก การปลูกไม้ผล การปลูกไม้ยืนต้น ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการนำหญ้าแฝกมาปลูก

159306364072

ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ ได้น้อมนำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด มาดำเนินการด้วยการนำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองของศูนย์ฯ ไปขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎรในพื้นที่รอบ ๆ ศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่องแบบครบวงจร อย่างเช่น กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชผักแบบอินทรีย์ เมื่อได้ผลผลิตแล้ว ทางศูนย์ฯ ก็ได้ประสานงานกับส่วนงานภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลในจังหวัดราชบุรี เพื่อนำผลผลิตเหล่านี้ไปประกอบอาหารให้กับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล พร้อมเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลผลิตไปวางจำหน่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนโดยทั่วไปบริเวณโรงพยาบาลอีกด้วย ซึ่งนอกจากเกษตรกรจะมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนแล้ว ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงพืชอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย