กูรูเตือน ‘หุ้นไทย’ เสี่ยง 'ขาลง'

กูรูเตือน ‘หุ้นไทย’ เสี่ยง 'ขาลง'

นักวิเคราะห์ ฟันธง “หุ้นไทย” ยังเสี่ยง “ขาลง” แนะจับตาการระบาดรอบสอง แต่เชื่อกดดัชนีลงไม่ลึก เหตุนักลงทุนเริ่มเข้าใจโรคโควิดดีขึ้น พร้อมระบุดัชนีที่เพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจ อานิสงส์จากสภาพคล่องโลกล้น 

นายกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวในงานสัมมนา “ส่องหุ้นไทย ฝ่าวิกฤติโควิด โดยช่วง “เบญจภาคี 5 หุ้นเด็ด สู้โควิด”จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า ระยะสั้นดัชนีหุ้นไทยอาจกลับไปอยู่ที่ 1,400 จุด ได้ เนื่องจากรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นดัชนีระดับ1,330-1,340 จุด เป็นระดับที่เริ่มซื้อหุ้นสะสมรอบใหม่ได้ 

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ เรื่องการระบาดของโควิด-19 ในรอบ 2 โดยขณะนี้หลายประเทศเริ่มมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าหากมีการระบาดรอบสองจะทำให้หุ้นลงไม่แรง เพราะทุกคนมีความรู้ความเข้าใจโควิด-19 มากขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้จากที่ยังมีความไม่แน่นอนนั้น นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนโดยใช้ทั้งปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคประกอบกันเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี 

นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ และประธานสายธุรกิจรายย่อย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยปัจจุบันถึง วันที่16 ส.ค. 2563 จะอยู่ในกรอบ 1,330 – 1,427 จุด หลังจากนั้นค่อยพิจารณาการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี เพราะจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส2 และการคาดเศรษฐกิจในไตรมาส3 ปีนี้ และการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงทำให้ช่วงนี้เหมาะกับการลงทุนระยะสั้น ส่วนนักลงทุนระยะยาวยังไม่แนะนำให้ซื้อช่วงนี้ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดัน

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า โอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะปรับเพิ่มขึ้นคงมีไม่มาก เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และศักยภาพการทำกำไรที่ลดลง สะท้อนที่ผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น(ROE)ของตลาดหุ้นไทยเหลืออยู่ที่ 7-8% จากอดีตเคยอยู่ที่ 20% จึงประเมินว่าหากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จะอยู่ที่ระดับ 1,450-1488 จุด ส่วนแนวรับคาดอยู่ที่ระดับ1,130 -1,150 จุด

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์  กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส3และไตรมาส4ปีนี้ คงปรับตัวเพิ่มขึ้นยาก และจะมีความผันผวนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวเร็วเกินไป เนื่องจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ พร้อมใจอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นผลจากความคาดหวังที่สูงมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ฉะนั้นแล้วการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจึงเป็นเพราะมาตรการอัดฉีดเงินของหลายประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว