3 บิ๊กธุรกิจ 'กัลฟ์-ปตท.-ดับบลิวเอชเอ' ลุยลงทุนสู้โควิด

3 บิ๊กธุรกิจ 'กัลฟ์-ปตท.-ดับบลิวเอชเอ' ลุยลงทุนสู้โควิด

“กัลฟ์” ชิงโอกาสโควิด เร่งซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ “ปตท.”ลุยลงทุนตามแผน 5 ปี 1.5แสนล้านบาท จ่อเพิ่มพอร์ตลงทุนธุรกิจใหม่แตะ 10% “ดับบลิวเอชเอ” มั่นใจครึ่งปีหลังธุรกิจนิคมฯ ฟื้น ยอดขายถึงเป้า 1.4 พันไร่

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจจัดสัมมนา “ส่องหุ้นไทย ฝ่าวิกฤติโควิด” โดยมีผู้แทนภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญได้มาแสดงความเห็นถึงทิศทางแผนธุรกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “ล้วงลึกหุ้นมหาชน ฝ่าโควิด” ว่า จากประสบการณ์วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 พบผลกระทบกระจายวงกว้างทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่สุดท้ายเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว

ในขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 คงไม่แตกต่างกัน โดยกัลฟ์ยังมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ซึ่งธุรกิจไฟฟ้ามีลูกค้าอุตสาหกรรมที่ซื้อไฟฟ้ากว่า 300 ราย ที่ผ่านมาช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้วยการยืดระยะเวลาวางบิลจาก 30 วัน เป็น 90 วัน รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้า ดังนั้น จะเห็นว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นไม่กระทบผลประกอบการนัก

กัลฟ์ยังเดินหน้าขยายการเติบโตต่อเนื่องแม้จะมีโควิด-19 โดยมองหาโอกาสลงทุนในโครงการที่สร้างกำไรกลับเข้ามาทันที ซึ่งที่ผ่านมาได้เจรจาผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เพื่อเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) โครงการในต่างประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรปหลายโครงการ ส่วนใหญ่เป็นพลังงานทางเลือก คาดว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 50% ขึ้นไป คาดว่าจะมีข้อสรุปได้มากกว่า 1 โครงการในปี 2563 

หวังเพิ่มความสามารถทำกำไร

สำหรับการหาโครงการเพิ่มจะทำให้อัตราส่วนทางการเงินที่เกิดจาก ราคาหุ้นและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท (P/E) ลดต่ำลง จากปัจจุบันบางช่วง P/E จะอยู่ที่ 80-100 เท่า และหากไม่มีโครงการใหม่เข้ามาในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า P/E จะเหลือ 10 เท่า ดังนั้น จึงต้องหาสมดุลทางธุรกิจด้วยการหาโครงการใหม่ในช่วงปีนี้และปีหน้า

“ช่วงนี้เราชอปปิงออนไลน์ เพื่อสร้างกำไรกลับเข้ามาทันที ซึ่งมีหลายโครงการในต่างประเทศที่ต้องการขายทรัพย์สินบางส่วนออกไปในช่วงนี้ ก็เป็นจังหวะที่ดีและดอกเบี้ยก็มีราคาถูก”

รวมทั้งมั่นใจว่าปี 2563 รายได้ของกัลฟ์จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อน และการลงทุนจะเป็นไปตามแผนลงทุนช่วง 5ปี ที่ใช้เงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าศรีราชาและโรงไฟฟ้าปลวกแดง รวม 5,300 เมกะวัตต์ มีกำหนดเปิดดำเนินการตามแผนปี 2564-2567

ส่วนโรงไฟฟ้าหินกองที่เป็น IPP ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างปี 2564 และเปิดตามแผนปี 2567-2568 โรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ที่เป็น IPP ขนาด 540 เมกะวัตต์ จะเริ่มสร้างปี 2567 และเปิดตามแผนในปี 2570 ดังนั้น รายได้ช่วง 5 ปีข้างหน้า จะเป็นไปตามแผน 1.4 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ปี 2564 จะเติบโต 35% หรือ อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท

เร่งนำเข้าแอลเอ็นจีป้อนโรงไฟฟ้า

นายสารัชถ์ กล่าวว่า ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปริมาณ 3 แสนตันต่อปี โดยจะจำหน่ายก๊าซธรรมชาติปริมาณดังกล่าวให้โรงไฟฟ้า SPP 19 โครงการของกลุ่มกัลฟ์เพื่อผลิตไฟฟ้า จำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมนั้น ล่าสุดกัลฟ์มีแผนจะนำเข้า Spot LNG ลำแรก ปริมาณ 65,000 ตัน ในปลายปีนี้

ขณะที่การนำเข้า LNG ของบริษัทหินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นร่วมทุนที่ กัลฟ์ฯถือหุ้น 49% และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 51% ที่ได้รับอนุมัติใบอนุญาตฯเช่นกันนั้น ในส่วนนี้ให้เป็นหน้าที่ของ ราช กรุ๊ป ที่จะดำเนินการ

สำหรับความคืบหน้าโครงการมอเตอร์เวย์ คาดว่าจะลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) กับภาครัฐในดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน–นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่–กาญจนบุรี (M81) ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

ปตท.เพิ่มพอร์ตธุรกิจใหม่

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ยังเดินหน้าลงทุนตามแผนระยะ 5 ปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มพอร์ตการลงทุนธุรกิจใหม่เป็น 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 8% แม้ว่าธุรกิจใหม่จะมีรายได้ไม่สูงนัก แต่มาร์จินจะเพิ่มขึ้นระยะยาว ซึ่งในส่วนของธุรกิจใหม่จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างการเติบโตของฐานธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจน้ำมัน รวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังเป็นธุรกิจที่เติบโตได้อย่างมีอนาคต

“ปตท.คงไปใน New Area มากขึ้น และจะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้รายได้ไม่สูงแต่มาร์จินเพิ่ม ขณะที่ธุรกิจพื้นฐานยังขยายตัว และจะจับมือกับพันธมิตรเพื่อต่อยอดมากขึ้น”

ทั้งนี้ ปตท.วางแนวทางบริหารจัดการธุรกิจระยะสั้น เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ PTT by PTT ประกอบด้วย 1.Partnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจ

2.Technology for All เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรมและดิจิทัล 3.Transparency and Sustainability สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจขุดเจาะเน้นต่างประเทศ

ส่วนธุรกิจสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมจะเน้นไปต่างประเทศมากขึ้นและลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นตั้งเป้าหมายเป็นโรงกลั่นลำดับต้นของอุตสาหกรรมที่อยู่รอด หรือจะตายเป็นคนสุดท้ายของธุรกิจ

ธุรกิจปิโตรเคมีจะประคองธุรกิจรับกับทิศทางที่ปรับขึ้นและลงตามสภาวะตลาด รวมถึงต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และธุรกิจไฟฟ้าต้องเพิ่มการเติบโตในต่างประเทศและอาจจับมือพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งในอนาคตธุรกิจไฟฟ้าต้องปรับโครงสร้างระหว่างเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนกับพลังงานฟอสซิล

ทั้งนี้ ปตท.เป็นธุรกิจพลังงานครบวงจรรายใหญ่ที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 2.1 ล้านล้าบบาท หรือ มีมาร์เก็ตแคป 14% และมีรายได้คิดเป็น 13% ของจีดีพี ดังนั้นการดำเนินงานของ ปตท.จะมีผลสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“ดับบลิวเอชเอ”ระวังลงทุน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โควิด-19 เป็นวิกฤติที่เจอและต้องผ่านให้ได้ ซึ่งการเป็นผู้บริหารต้องมองเสนอว่าจะเกิดวิกฤติอะไรในอนาคตได้บ้าง และวางแผนรองรับแต่ละด้านเพราะวิกฤติเกิดขึ้นซ้ำตลอด ดังนั้น ดับบลิวเอชเอ จึงระมัดระวังในการลงทุน

ทั้งนี้ ก่อนเกิดโควิด-19 ดับบลิวเอชเอ คาดว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ดีที่สุดตั้งแต่ตั้งบริษัทมาจะขยายตัวกว่า 20% แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ธุรกิจเริ่มได้รับผลกระทบ จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น และปรับลดเป้าหมายเหลือขยายตัว 15% 

ซึ่งจากการประเมิน 4 กลุ่มธุรกิจหลักของดับบลิวเอชเอ ได้แก่ 1.ธุรกิจโลจิสติกส์ นั้น โควิด-19 ส่งผลดีต่อธุรกิจมาก ลูกค้าที่มาเช่าคลังสินค้ามีรายได้ขยายตัว 100-400% แต่เป็นธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งดับบลิวเอชเอ มีคลังสินค้า 2.5 ล้านตารางเมตร และปลายปีนี้จะขยายเป็น 2.56 ล้านตารางเมตร

2.ธุรกิจคลังสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง มีลูกค้าที่ได้เข้ามาเชื่อพื้นที่ในปีก่อน 3 หมื่นตารางเมตร ปีนี้ได้เพิ่มเป้าอีก 3 หมื่นตารางเมตร และได้เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่เพิ่มในปีหน้าอีก 3 หมื่นตารางเมตร และจะมีลูกค้ารายใหม่ขนาดใหญ่จากจีนเข้ามาเพิ่มอีก

ธุรกิจนิคมฯกระทบระยะสั้น

3.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม มองว่าได้รับผลกระทบในระยะสั้น จากการประเมินในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าลูกค้าจีน และเชื้อสายจีนทั่วโลกที่เจรจากันอยู่ต้องการย้ายฐานออกจากจีนโดยเร็ว เพื่อหนีปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐ จึงมองว่าแนวโน้มของธุรกิจนี้ยังจะไปได้ดี แต่ช่วงครึ่งปีแรกจะชะงักเพราะไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ แต่ช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฟื้นกลับมา เพราะได้คุยกับลูกค้ามาโดยตลอด โดยเฉพาะลูกค้าจากจีน ฮ่องกง ไต้หวัน จะมาไทยอีกมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

“โควิด-19 และสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้เกิดการย้านฐานการลงทุนออกจากจีน โดยยังคงเป้าหมายการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในไทย 1.2 พันไร่เหมือนเดิม ส่วนที่เวียดนามตั้งเป้าไว้ 200 ไร่ แต่ลูกค้าเข้ามามาก อาจจะเกิดกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้โดยรวมแล้วยังคงเป็นไปตามเป้า 1.4 พันไร่ ”

4.ธุรกิจสาธารณูปโภค เช่น น้ำและไฟฟ้า จะลดลงเล็กน้อบจากภัยแล้งทำให้ลดการใช้น้ำ แต่เมื่อเข้าฤดูฝนจะเห็นการใช้น้ำก็กลับมาเหมือนเดิมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ามีการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 

5.ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม จะเข้ามาผลักดันเสริมศักยภาพของธุรกิจของดับบลิวเอชเอ เข้ามาช่วยทรานฟอร์เมชั่นในกลุ่มทั้งหมด 

นางสาวจรีพร กล่าวว่า กรณีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นลูกค้าที่สำคัญของดับบลิวเอชเอได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 โดยธุรกิจกลุ่มนี้จะต้องปิดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุงปรับปรุงโรงงานทุกปี จึงได้เลื่อนมาปิดโรงงานซ่อมบำรุงในช่วงนี้ 2-8 สัปดาห์ และมองว่าธุรกิจกลุ่มนี้สายป่านยามสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้