สรุปทุกมาตรการ! 'เยียวยา' ล่าสุด 'เกษตรกร' ถึงเราไม่ทิ้งกัน

สรุปทุกมาตรการ! 'เยียวยา' ล่าสุด 'เกษตรกร' ถึงเราไม่ทิ้งกัน

สรุปรวบอีกครั้ง กับความคืบหน้ามาตรการต่างๆ ที่ "คลัง" อัดมาตรการแจกเงิน "เยียวยา" เพื่อมาช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบ "โควิด-19"

สรุปรวมอีกครั้งกับมาตรการแจกเงิน "เยียวยา" และช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนในช่วงที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ตามปกติ ทั้งจากการที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับมาตรการเคอร์ฟิว และการปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ ทำให้ประชาชนบางส่วนต้องตกงาน หรือหยุดกิจการชั่วคราว 

159305946679

  • "เราไม่ทิ้งกัน" วันนี้รอจ่ายตกหล่น 3 แสนคน

เริ่มจากมาตรการจ่ายเงินเยียวยาโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" โดยรัฐแจกเงินให้ประชาชนรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โครงการนี้เจาะไปที่กลุ่มอาชีพอิสระ ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้บางส่วนต้องโดนหยุดงานไปชั่วคราวในช่วงที่สถานประกอบการต่างๆ ต้องหยุดชะงักจากมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด โดยวิธีที่รัฐใช้ในการแจกเงิน คือให้ผู้ที่มีเกณฑ์เข้าข่ายคุณสมบัตินั้น ไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2563 และปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563

โดยจากข้อมูลเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ระบุว่ามีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้นราว 28.8 ล้านคน ขณะเดียวกันยังมีรายชื่อผู้ลงทะเบียนไม่สำเร็จอีก 1.7 ล้านราย ล่าสุดมติ ครม.ได้อนุมัติความช่วยเหลือ โดยมีการคัดกรองให้กับผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จนี้ และต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากโครงการต่างๆ ของรัฐ

ทั้งนี้จึงทำให้เหลือ "ผู้ที่เข้าเกณฑ์อีก 302,160 ราย" ซึ่งรายละเอียดการเยียวยาจะไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาทต่อคน เหมือนกลุ่มผู้ลงทะเบียน 15.1 ล้านคนก่อนหน้านี้ เพราะลักษณะและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ส่วนจะเป็นเท่าไรให้ "สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง" จะนำไปพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง เพื่อเสนอขอใช้เงินกู้จากคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งจะพิจารณาใน 1 เดือน เพื่อนำไปสู่มาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว 2 งวดตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ในช่วงวันที่ 22-26 มิถุนายน 2563 จะเป็นการจ่ายเงินเยียวยางวดสุดท้าย 5,000 บาท หากใครที่ได้รับเงินงวดแรกวันที่เท่าไร งวดสุดท้ายก็จะได้รับเงินในวันเดียวกันในเดือนถัดไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

159306425436

  • "เยียวยาเกษตรกร" ยังพบกลุ่มที่โอนไม่ได้

มาตรการที่คลอดตามมาติดๆ คือ "เยียวยาเกษตรกร" เป็นมาตรการที่เฉพาะเจาะจงให้กับเกษตรกรไทย โดยแจกเงินรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือนเช่นกัน แต่ไม่เปิดลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดึงเอาข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เคยดำเนินการมาแล้ว เป็นฐานของการแจกเงิน แต่ก็มีการเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรที่ทำกินและยังไม่เคยได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไปขึ้นเพื่อรับสิทธิได้

ซึ่งมาตรการนี้ได้เริ่มโอนเงินตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ขณะนี้ในงวดที่ 2 เดือนมิถุนายน ธ.ก.ส.โอนเงินเป็นที่เรียบร้อยทั้งหมดแล้วสำหรับเกษตรกรที่มีบัญชี ธ.ก.ส. และวันที่ 26 มิถุนายน 2563 จะโอนเงินให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ที่มีบัญชีต่างธนาคาร รอบที่ 2 ประจำเดือนมิถุนายน 2563 อีก 52,000 ราย 

ล่าสุดในส่วนของเกษตรกรด้านพืช พบรายชื่อเกษตรกร 74,295 คน "โอนเงินไม่สำเร็จ" เนื่องจากเกษตรกรเสียชีวิต เลขประจำตัวประชาชนผิด และเลขประจำตัวประชาชนจำหน่ายหรือยกเลิก จำนวน 42,745 ราย รวมถึงไม่พบบัญชีธนาคารหรือบัญชีธนาคารไม่สมบูรณ์ จำนวน 31,550 ราย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอให้เกษตรกรในกลุ่มดังกล่าว เร่งตรวจสอบรายชื่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ใบปิดประกาศในชุมชน และติดต่อขอแก้ไขข้อมูลรับเงินเยียวยาเกษตรกรโดยด่วน

นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจาก ธ.ก.ส.อีกกว่า 3 แสนราย ได้แก่

- กลุ่มเกษตรกรที่แจ้งบัญชีธนาคารอื่นที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบบัญชี 47,519 ราย
- เกษตรกรที่ ธ.ก.ส.ส่งคืนข้อมูลให้กระทรวงเกษตรกร ตรวจสอบสถานะเพิ่มเติ่ม 132,905 ราย
-
เกษตรกรที่ไม่สามารถโอนเงินเยียวยาได้ เนื่องจากไม่พบบัญชีหรือยังไม่ได้แจ้งบัญชีมาที่ ธ.ก.ส. 139,668 ราย

ขณะเดียวกัน มติ ครม.เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เคาะจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติม 4 กลุ่ม หนึ่งในนั้นเยียวยา "เกษตรกร" เพิ่มเติม ได้แก่ 

- เกษตรกรกลุ่มด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและไม่มีเอกสารสิทธิ์ ที่ดินทำกินของตัวเอง 1.3 แสนราย และไม่ได้รับเงินจากมาตรการอื่น 
- ขยายเวลาให้กลุ่มเกษตรกรที่ไม่สามารถปรับปรุงและลงทะเบียนได้ทันภายใน 15 พ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 1.2 แสนราย ครม.ได้มีมติขยายเวลาให้เกษตรกรทำการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้แล้วเสร็จภายใน 15 ก.ค.

  • "กลุ่มเปราะบาง" ยังรอความชัดเจน

โดยอีกหนึ่งกลุ่มที่มติ ครม.เคาะจ่ายเยียวยาเพิ่มเติม คือ "กลุ่มเปราะบาง" ซึ่งประกอบด้วย เด็กแรกเกิด-6 ขวบจากครัวเรือนยากจน จำนวน 1.3 ล้านคน, กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จำนวน 4 ล้านคน และกลุ่มผู้พิการ จำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่งไม่ได้รับเงินเยียวยาจากมาตรการอื่นๆ ของภาครัฐมาก่อน รวมจำนวนทั้งสิ้น 6.7 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท

ซึ่งจะได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน พ.ค.-ก.ค. ซึ่งเป็นการจ่ายเพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนและเบี้ยยังชีพที่จ่ายให้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องลงทะเบียนเพิ่มเติมใดๆ เนื่องจากเป็นการจัดสรรจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ ขณะนี้ยังไม่มีการระบุถึงวันและเวลาในการจ่ายเงินเยียวยา

รวมถึงมติ ครม.ยังครอบคลุมถึง "กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอื่นๆ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด จำนวน 1,164,222 คน กรอบวงเงินจำนวน 3.4 พันล้านบาท โดยจะได้รับเงินเดือนละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. โดยไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากจะเป็นการจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งในกลุ่มนี้ก็ยังตั้งตารอเช่นกัน เพราะจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่อง "กำหนดการโอนเงิน" แต่อย่างใด!