'คมนาคม' สั่ง สนข.-ทล.-รฟท.เดินหน้าศึกษา 8 เส้นทาง ดันมอเตอร์เวย์ขนานรถไฟทางคู่

'คมนาคม' สั่ง สนข.-ทล.-รฟท.เดินหน้าศึกษา 8 เส้นทาง ดันมอเตอร์เวย์ขนานรถไฟทางคู่

“คมนาคม” สั่ง สนข.-ทล.-รฟท.เดินหน้าศึกษา 8 เส้นทาง ระยะทาง 4.9 พันกม. รองรับแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อรถไฟทางคู่ พร้อมนำร่อง 3 เส้นทาง เล็งใช้ TFFIF ระดมทุน

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.63  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า  สำหรับความคืบหน้าในการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) เพื่อบูรณาการเดินเชื่อมต่อการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  บูรณาการการลงทุน การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและลดปัญหาเส้นทางผ่านเข้าเมืองที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตชุมชน

ทั้งนี้  สนข. ได้หารือร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการบูรณาการแนวเส้นทางรถไฟและแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์เข้าด้วยกัน

ขณะเดียวกันได้นำเสนอแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) แนวเส้นทางร่วมรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ ที่เป็นไปได้เบื้องต้นว่าจำนวน 8 สายทาง รวมระยะทางก่อสร้าง 4,930 กิโลเมตร โดยจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 แนว คือ1.แนวเหนือ-ใต้ จำนวน 3 สายทาง ระยะทาง 2 ,620 กิโลเมตร ได้แก่ เชียงราย-สงขลา  ระยะทาง 1 , 660 กิโลเมตร , หนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กิโลเมตร และ บึงกาฬ-สุรินทร์ ระยะทาง 470 กิโลเมตร

และ 2.แนวตะวันออก-ตะวันตก จำนวน 5 สายทาง ระยะทางรวม 2 , 310 กิโลเมตร ได้แก่ ตาก-นครพนม ระยะทาง  710 กิโลเมตร ,ตาก-อุบลราชธานี ระยะทาง 880 กิโลเมตร, กาญจนบุรี-สระแก้ว ระยะทาง 310 กิโลเมตร ,กาญจนบุรี-ตราด ระยะทาง 220 กิโลเมตร และภูเก็ต-สุราษฏร์ธานี ระยะทาง 190 กิโลเมตร

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า  หลังจากนี้ สนข. จะต้องทำการศึกษารายละเอียดแอคชั่นแพลนและทำการออกแบบ 8 สายทางตามมาสเตอร์แพลนซึ่งจะใช้เวลาศึกษาราว 1 ปี เบื้องต้นก่อสร้างนำร่อง  3 เส้นทางย่อยที่มีความสำคัญก่อน คือ 1.โคราช-ขอนแก่น-หนองคาย 2.โคราช-บุรีรัมย์ และ 3.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร คาดว่าจะเริ่มเวนคืนและก่อสร้างได้ในปี 65-66

ทั้งนี้ จะต้องศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมว่าจะใช้รูปแบบใดเบื้องต้นอาจจะให้เปิดให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมลงทุน หรืออาจจะใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนมาก  รวมถึงต้องศึกษารูปแบบการเวนคืนที่ดินที่ต้องมีการบูรณาการพื้นที่ร่วมกันระหว่างรฟท.และทล. ซึ่งตนมองว่าควรเป็นการเวนคืนพร้อมกันในคราวเดียว และจะต้องเวนคืนเผื่อพื้นที่เพื่อก่อสร้างสาธารณูปโภคโดยรอบด้วย เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัยไปพร้อมกันเลย เพื่อให้เกิดการพัฒนาสร้างเมืองใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม  ด้านการออกแบบก่อสร้างนั้นได้ให้นโยบายว่าควรเป็นแนวเส้นทางที่ ตัดตรงให้มากที่สุด  ไม่ต้องลากผ่ากลางเข้าไปยังชุมชนจนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านจนมีกรณีร้องเรียน  รวมทั้งจะต้องมีการก่อสร้างถนนคู่ขนาน และก่อสร้างทางแยกต่างระดับทุกๆ 10 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อการดินทางเข้าไปยังชุมชนด้วย