พาณิชย์ บี้จีนซื้อ "ข้าว-ยาง" ภายใต้ MOU สินค้าเกษตรรัฐบาลไทย-จีน

พาณิชย์ บี้จีนซื้อ "ข้าว-ยาง" ภายใต้ MOU สินค้าเกษตรรัฐบาลไทย-จีน

“มัลลิกา”เผย “จุรินทร์”สั่งตามงานซื้อขาย”ข้าว-ยางพารา”กับจีน หลังล่าช้ามาก ล่าสุดเหลือข้าวส่งมอบ 3 แสนตัน ยางพารา 1.83ตัน ขณะที่โครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งเป็นเงื่อนไขความร่วมมือมีความคืบหน้าไปมาก

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งการ กรมการค้าต่างประเทศ  ทำหนังสือถึงนาย  ฉี เจ้าฉื่อ ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน  หรือ NDRC ( National Development and Reform Commission of The people's Republic of China ) หรือคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน  เพื่อขอให้เร่งรัดการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ที่ลงนามข้อตกลง MOU ซื้อขายข้าว 1 ล้านตัน โดยเป็นข้อตกลงระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับ  COFCO จีนและการซื้อขายยางพารา 2 แสนตัน ระหว่างการยางแห่งประเทศไทย กับ  SINOCHEM จีน ไว้ตั้งแต่ 19 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา

โดยภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีนทั้งสองฝ่าย มีเป้าหมายร่วมกันที่จะความร่วมมือด้านการค้าควบคู่ไปกับความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน  ซึ่งปัจจุบันความร่วมมือด้านรถไฟมีความคืบหน้าแต่ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรยังไม่บรรลุผลตามข้อตกลงนี้เท่าที่ควร  จึงต้องทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าไปยังหน่วยงาน  NDRC เพื่อเร่งรัดทั้ง  COFCO และ SINOCHEM ของทางการจีนให้ดำเนินการซื้อข้าวและยางพารากับฝ่ายไทยให้แล้วเสร็จตามกำหนดโดยเร็ว เพราะปริมาณดังกล่าวนี้จะทำให้ยกระดับราคาผลผลิตช่วยเกษตรกรได้มาก

 

  159298745754

นางมัลลิกา กล่าวว่า  ล่าสุดความคืบหน้าการดำเนินการการตามข้อตกลงดังกล่าวว พบว่า  ข้าวได้ส่งมอบแล้ว 7 แสนตัน คงเหลืออีก 3 แสนตันซึ่งได้ปรับแก้ไขปริมาณการส่งมอบแต่ละงวดจากเดิม 0.8-1 แสนตัน เป็น 0.2-1 แสนตัน ในส่วนการเร่งรัดทางการจีนนั้นทางกรมการค้าต่างประเทศได้ทำหนังสือเร่งรัด COFCO หลายครั้งแล้ว ล่าสุด ทาง COFCO ขอให้ไทยเสนอราคาที่แข่งขันได้จึงจะพิจารณารับซื้อเนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าผู้ส่งออกอื่นโดยในขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาจากสมาคมผู้ส่งออกข้าว

 

ส่วนเรื่องยางพารา ทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท) แจ้งว่าการส่งมอบยาง 11 งวดที่เหลือปริมาณ  1.83 แสนตันนั้นทางจีนชะลอการซื้อโดยอ้างว่ายังไม่มีความชัดเจนเรื่องโครงการความร่วมมือทางรถไฟ ฯ แต่ทางนายจุรินทร์ ให้ติดตามจนทราบว่าทางรถไฟไทย-จีน รายงานผลการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือรถไฟมีความคืบหน้ามากโดยได้ข้อยุติร่วมกันในสัญญาระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร  วงเงิน  5.06 หมื่นล้านบาท ในเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา คาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในเดือนต.ค.ลาคม 2563  โดยจะเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานลงนามซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทย  เท่ากับว่ากรณีความร่วมมือทางด้านรถไฟมีความคืบหน้าแล้ว