ปฏิบัติการ '#24มิถุนา' มรดกคณะราษฎร VS มรดก คสช. และเป้าหมายการเมือง

ปฏิบัติการ '#24มิถุนา' มรดกคณะราษฎร VS มรดก คสช. และเป้าหมายการเมือง

จับประเด็นร้อน! ปฏิบัติการ #24มิถุนา มรดกคณะราษฎร VS มรดก คสช. และเป้าหมายการเมือง

คงไม่ต้องเท้าความว่า วันนี้เมื่อ 88 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นในประเทศไทย หากจะทบทวนความรู้ ลองอ่าน 10 เรื่องต้องรู้ "อภิวัฒน์สยาม" 24 มิ.ย. 2475

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลคลายล็อกมาตรการโควิด-19 ตามลำดับ จนถึงย่ำรุ่งเช้า 24 มิถุนายน 2563 "เริ่มปฏิบัติการ" ของกลุ่มก้อนการเมืองและพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองในต่างจังหวัด

ฉายภาพเก่าก่อการคณะราษฎร "ลบยังไง ก็ไม่ลืม"

เมื่อเวลา 05.00 น. บริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการรวมตัวจัดกิจกรรม ย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 88 ปี วันอภิวัตน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ภายใต้กิจกรรม "ลบยังไง ก็ไม่ลืม" มีการแต่งตัวย้อนยุค

ปฏิบัติการ '#24มิถุนา' มรดกคณะราษฎร VS มรดก คสช. และเป้าหมายการเมือง

ไฮไลท์สำคัญเป็นการใช้เทคนิคโฮโลแกรม ฉายภาพเรื่องราว ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ซึ่งถือเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย นำโดย "อานนท์ นำภา" ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ท่ามกลางการดูแลของตำรวจ รุกเร้ากลุ่มผู้ชุมนุมในการรักษาพื้นผิวการจราจรตามกฎหมาย และขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมรักษาระยะห่างตามมาตรการทางสังคมป้องกันโรคโควิด-19 และอยู่ในกรอบของพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)

"กิจกรรมวันนี้เป็นการย้ำเตือนให้เห็นถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีทั้งแง่บวกและแง่ลบเป็นคุณและเป็นโทษกับบางคนบางฝ่าย พร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาหรือความเกี่ยวข้องใด ๆ กับการหมิ่นสถาบัน และเห็นว่า เป็นหน้าที่ของทุกคน รวมถึงผู้มีอำนาจและชนชั้นนำที่จะต้องช่วยกันประคับประคองประชาธิปไตยที่อาจพบปัญหา อาจพบข้อบกพร่องอยู่บ้าง ให้เดินหน้าต่อไปได้ และหากเห็นว่ามีคนกลุ่มใด องค์กรใดกระทำการผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ก็ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข" อานนท์ระบุ

ดาวกระจายหัวเมือง ปลุกเร้า "เก็บกวาดเผด็จการ"

ที่ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่น กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนาม "ขอนแก่นพอกันที" จำนวน 10 คน ได้ผูกผ้าขาว ถือไม้กวาด น้ำยาทำความสะอาดและป้ายผ้า ข้อความ "24 มิถุนายน อภิวัฒน์สยาม เก็บกวาดเผด็จการ" และ "ขออภัยในความสะดวกมั๊ย ซ้อมเป็นประชาธิปไตย" แสดงเชิงสัญลักษณ์ กิจกรรมรำลึก 88 ปี #24 มิถุนา โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง วางกำลังโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ปฏิบัติการ '#24มิถุนา' มรดกคณะราษฎร VS มรดก คสช. และเป้าหมายการเมือง

ขณะที่อุบลราชธานี กลุ่มวิ่งไล่ลุงจำนวน 10 กว่าคน นำโดย "ฉัตรชัย แก้วคำปอด" อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ รวมตัวบริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย สะพานข้ามแม่น้ำมูลฝั่งขาเข้าอำเภอเมืองอุบลราชธานี ทำกิจกรรมรำลึกการปฏิวัติของคณะราษฎร

นอกจากขอนแก่นและอุบลฯ แล้ว พบว่ามีนักศึกษาที่ยังคงยึดเจตนารมณ์ของคณะราษฎร์จัดกิจกรรมในหลายพื้นที่ในอีสาน คือ นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ สกลนคร อุดรธานีและร้อยเอ็ด

ปลุกกระแส #24มิถุนา ตร.เข้มงวดแสดงเชิงสัญลักษณ์

การจัดกิจกรรม "24 มิ.ย. 2475" ตั้งแต่เช้า พร้อมปลุกกระแสติดแฮชแท็ก #24มิถุนา จนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ตลอดวันนี้ ท่ามการการจับตา "บทบาทนำ" ของ "คณะก้าวหน้า" การทวิตข้อความของ "ช่อ" พรรณิการ์ วานิช และแนวร่วมในโซเชียลล้วนเป็นการเคลื่อนไหวหนุนนำให้กลายเป็นอีเว้นท์เด่นของวันนี้

ปฏิบัติการ '#24มิถุนา' มรดกคณะราษฎร VS มรดก คสช. และเป้าหมายการเมือง

ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.สุรพล อยู่นุช ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานงานทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าด้านการข่าวได้รับรายงานมาเมื่อวันก่อน ว่าจะมีกลุ่มคนพยายามสร้างสถานการณ์ แสดงเชิงสัญลักษณ์ยิงเลเซอร์ สถานที่สำคัญต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานด้านความมั่นคง เฝ้าติดตามสถานการณ์ เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.) โดยรอบทำเนียบรัฐบาลมีมาตรการการเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะมีการประสานงานกับตำรวจในพื้นที่ ทั้ง สน.ดุสิต และ สน.นางเลิ้ง รวมกับใช้กำลังจากกองกำกับการ 4 สันติบาล 3 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบทำเนียบรัฐบาลโดยรอบ

หากสำรวจ #24มิถุนา จะเห็นว่าแบ่งความคิดเห็นออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มใหญ่สนับสนุนคณะราษฎร และอีกกลุ่มตั้งถามในความขัดแย้งชิงอำนาจในคณะราษฎร

มรดกคณะราษฎร

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) แถลงการณ์ 24 มิถุนายน 2563 ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน สรุปสิ่งหายไปคือ คำว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และมรดกคณะราษฎรด้านอื่นได้ถูกลบล้างอย่างกว้างขวางภายใต้รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ปฏิบัติการ '#24มิถุนา' มรดกคณะราษฎร VS มรดก คสช. และเป้าหมายการเมือง

นับตั้งแต่หมุดคณะราษฎรที่หายไปอย่างมีเงื่อนงำในช่วงต้นเดือนเมษายน 2560 ขณะที่ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2561 มีการย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญไปเก็บไว้ในบริเวณที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบ เช่นเดียวกับในเดือนมกราคม 2563 มีการย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ลานหน้าสโมสรนายทหาร ค่ายพหลโยธิน และรูปปั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ไปเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบเช่นกัน

นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนชื่อสถานที่ที่เป็นชื่อบุคคลในคณะราษฎร เช่น "บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม" ที่ จ.เชียงราย ถูกเปลี่ยนเป็น "ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์" เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้น การลบล้างมรดกคณะราษฎรในลักษณะเช่นนี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ โดยไม่เคารพต่อข้อเท็จจริงและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับการลบล้างหรือเปลี่ยนความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ผ่านแบบเรียน ภาพยนตร์ ละคร บทเพลง ฯลฯ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

มรดก คสช.

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือผลพ่วงจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นกรณี พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯสมัยที่ 2 เนื่องจาก รธน. ให้อำนาจวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. เลือกนายกรัฐมนตรี และประกาศและคำสั่ง คสช. ที่มีผลทางกฎหมายอีกจำนวนมากแม้จะยกเลิกไปแล้วกว่า 70 ฉบับก็ตาม

ปฏิบัติการ '#24มิถุนา' มรดกคณะราษฎร VS มรดก คสช. และเป้าหมายการเมือง

การต่อสู้เชิงแนวคิดและโครงสร้างอำนาจ

เป้าหมายการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามของ "รัฐบาลประยุทธ์" คือ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 พร้อมแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยกลไกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เขียนกฎหมายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กำหนดให้องค์กรที่ใช้อำนาจต้องมาจากหรือว่ายึดโยงกับประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง และต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร ซึ่งที่สำคัญคือ ผลพวงรัฐประหารครั้งล่าสุด ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีฐานอำนาจที่เข้มแข็ง ทั้งในระบบราชการ และกลุ่มทุนผูกขาด

ปฏิบัติการ '#24มิถุนา' มรดกคณะราษฎร VS มรดก คสช. และเป้าหมายการเมือง

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน พยายามชี้ให้เห็น "ทุนสามานย์" นักธุรกิจที่เข้ามาเป็นนักการเมือง ยุครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เข้ามามีบทบาทเป็นรัฐบาล แต่คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายอย่างกว้างขวาง กรณีระบอบทักษิณ และทุจริตจำนำข้าว เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังตอบโต้กลุ่มที่หนุนคณะราษฎรว่า มีความผิดพลาดและความขัดแย้งกันเองในหมู่ผู้นำคณะราษฎร กรณียุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น

เงื่อนไขและสถานการณ์ปัจจุบัน

ก่อนยุคโควิด-19ระบาด การเมืองไทยมีการเดินสาย "ปลุกกระแสนิสิตนักศึกษา" ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และวันนี้ 24 มิ.ย. 2563 ถือเป็นปฐมการเริ่มรุกครั้งใหม่ รองรับสถานการณ์โควิดในประเทศที่สามารถควบคุมได้ แต่นั้นก็ทำให้ความเชื่อมั่นของ "รัฐบาลประยุทธ์" ในการแก้ไขสถานการณ์ ดูดีขึ้นในสายตาประชาชน และการเข้าสู่ฤดูฝนย่อมทำให้ไม่เอื้อแก่การชุมนุมทางการเมือง

ในขณะที่การวางรากฐานชิงอำนาจการเมือง เพื่อรอการเลือกตั้งทั่วไป ต่างฝ่ายต่างเล็งเห็นว่า "การเลือกตั้งท้องถิ่น" ถือเป็นเงื่อนไขในการพิสูจน์ศรัทธาและความรู้สึกของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล และการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง

จึงไม่แปลกท่าทีฝ่ายรัฐบาลจะยอมเรื่องหางบประมาณการเลือกตั้ง และใช้เงื่อนไขโควิดจ่ายเงินเพิ่มให้กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งฝ่ายคณะก้าวหน้าจี้เร่งเลือกตั้งท้องถิ่น

ดังนั้น "ปฏิบัติการ 24มิถุนา" ในวันนี้ จึงถือเป็นการต่อสู้ทางการเมือง และการหาเสียงอย่างมีเป้าหมาย!!

159298390341