'วิษณุ' ไม่คอนเฟิร์ม ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่

'วิษณุ' ไม่คอนเฟิร์ม ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่

"วิษณุ" ไม่คอนเฟิร์ม ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ รอ ศบค.ชุดใหญ่ 29 มิ.ย. รับหากยกเลิกมีผลต่อ State Quarantine 

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 63 นายวิษณุ เครืองงาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจาก 4 ฝ่าย ประกอบด้วย แพทย์ เศรษฐกิจ ปกครอง และฝ่ายความมั่นคง โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน และจะนำไปหารือกับนายกรัฐมนตรี ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาผลกระทบต่อประชาชน 

“จะขยายการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่จะมีกฎ 22 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติหลังการคลายล็อก” นายวิษณุ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ยอมรับว่า การยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลต่อสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ หรือ State Quarantine ซึ่งกำลังพิจารณา 3 ประเด็น ทั้งอำนาจในการกักกันจะยังอยู่หรือไม่ สถานที่กักกัน และเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เพราะหากใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะทำให้ไม่สะดวกในการสั่งการเท่ากับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหากมีการคัดค้านการกักตัว เรื่องอาจจะไปถึงศาล แต่ถ้าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องจะไม่ไปถึงศาลแน่นอน โดยเฉพาะศาลปกครอง และอาจเกี่ยวโยงกับการใช้สถานที่ต่างๆ เช่น กรณีการเปิดให้เดินทางเข้าประเทศได้ และมีเที่ยวบินจำนวนมากจะทำอย่างไร นอกจากเรื่องสถานที่กักกันของรัฐแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นต้องพิจารณาด้วย

“ส่วนตัวเห็นว่า ควรใช้เฉพาะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่ก็ต้องสอบถามและรับฟังความคิดเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขด้วย เพราะตอนนี้ใช้กฎหมาย 2 ฉบับควบคู่กัน ซึ่งลำพัง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจัดการกับโรคติดต่อ แต่ออกแบบมาสำหรับเรื่องภัยพิบัติต่างๆ  ผมสอบถามกรมควบคุมโรค ว่า ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เจ้าหน้าที่จะสามารถทำงานแบบบูรณาการได้อย่างไร เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แตกต่างกับที่ผ่านมาที่แต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานมาสนธิกำลังภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงกังวลว่าหากเหลือแต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะสามารถสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ได้เพียงพอเหลือไม่” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ ไม่ตอบคำถามถึงการไหวเชิงสัญลักษณ์วันครบรอบ 24 มิถุนายน 2475 เช่น การฉายโฮโลแกรม จำลองเหตุการณ์ ปี 2475 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่าในทางกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่