ส่งออก พ.ค.ร่วงหนัก! ติดลบ 22.5% พิษโควิดฉุดต่ำสุดรอบ 4 ปี

ส่งออก พ.ค.ร่วงหนัก! ติดลบ 22.5% พิษโควิดฉุดต่ำสุดรอบ 4 ปี

"พาณิชย์" เผย ส่งออกเดือน พ.ค.ติดลบ 22.5% มูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์ ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนพ.ค.2563 มูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 22.50% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี เป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่ออุปสงค์ อุปทานที่ลดลง

ส่วนการนำเข้าเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีมูลค่า 13,584 ล้านดอลลาร์ ลดลง 34.41% ได้ดุลการค้า 2,694 ล้านดอลลาร์

ในขณะที่การส่งออก 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 97,899 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.71% การนำเข้ามูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์ ลดลง 11.64% ได้ดุลการค้า 9,090 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกไทยในเดือนพฤษภาคม 2563 เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ อุปสรรคด้านการขนส่งที่ยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อแม้ยังมีความต้องการสูง

อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยให้
ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ดังเช่นการส่งออกไปตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 15.3% ซึ่งการส่งออกเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด-19

โดยเห็นได้จากกระจายตัวทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคและสินค้าเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมในรายสินค้า สินค้าไทยยังตอบโจทย์ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารในช่วงล็อกดาวน์ของโลกได้ดี ในเดือนพฤษภาคม 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผักและผลไม้ หลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจีน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สด แช่เย็นและแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 10 เดือน

ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและและอุตสาหกรรมเกษตรยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 22.7% จาก 17.1% ในปีที่ผ่านมา สะท้อนโอกาสในการกระจายรายได้ลงสู่เกษตรกร และเศรษฐกิจฐานรากในช่วงเวลาท้าทาย

ส่วนการประเมินว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่

1.ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว

2.ความชะงักงันของการผลิต จากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก ซึ่งขณะนี้เริ่มคลี่คลายบ้างแล้วจากการผ่อนคลายมาตรการในหลายประเทศ

3.ระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่ยังไม่คล่องตัว

4.ผลกระทบด้านรายได้ของประเทศคู่ค้า (Income Effect) ซึ่งขึ้นกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างประเทศ

ส่วนแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในทวีปเอเชียจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่การระบาดในทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อตลาดส่งออกของไทย

​สำหรับการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีมาตรการส่งเสริมทั้งตลาดออฟไลน์ ผ่านการส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง โดยขยายตลาดสินค้าผักและผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจรจากับจีนเพื่อคลี่คลายปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยผ่านลาวและเวียดนามไปยังจีนตอนใต้ได้เป็นอย่างดี ด้านการส่งเสริมตลาดออนไลน์ กระทรวงพาณิชย์มีการดำเนินงานผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ ทั้งจีน อินเดีย อาเซียน เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา และจัดกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างผู้ส่งออกไทย 80 บริษัท และผู้นำเข้าต่างประเทศ 50 บริษัท

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยทันทีที่ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ จะทำให้สินค้าไทยกลับเข้าสู่ตลาดได้ทันที ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูตลาดส่งออกของไทยให้มีมูลค่าทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงพาณิชย์ยังร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด สร้างโอกาสไทยทุกคน” โดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพิ่มจีดีพี และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ