พาเหรด 'หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์' ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ

พาเหรด 'หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์' ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ

ความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจในยุคที่เผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจ คือการประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวด้วยการรักษาสภาพคล่อง ลดรายจ่าย   ตัดงบไม่จำเป็น  ชะลอการลงทุน  และรอให้ดีมาร์ทลูกค้าหรือผู้บริโภคฟื้นตัว

        

ข้อความข้างต้นเป็นเหมือนคาถาของหลายธุรกิจในช่วงนี้ที่เริ่มออกอาการแสวงหาสภาพคล่องตุนไว้ในมือ หรือการออกมากำกับดูแลจนแทรกแซงธุรกิจใหญ่อย่างธนาคารพาณิชย์ ที่แบงก์ชาติส่งสัญญาณแรงว่าเห็นข้อมูลที่น่ากังวลใจในระยะข้างหน้าไม่น้อย

ส่งผลทำให้ตลาดตราสารหนี้ในกลุ่มหุ้นกู้เกิดความวิตกกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจนต้องมาตรการเข้ามาช่วยเหลือของแบงก์ชาติในการตั้งกองทุนพยุงตราสารหนี้ระดับลงทุน (Investment Grade) ตามมาด้วย การตั้งกองทุนไฮยิลบอร์น เพื่อช่วยเหลือในกลุ่มตราสารหนี้ต่ำกว่าระดับลงทุน

หลังจากกลุ่มคอร์ปอเรทหลายรายออกมาขอยืดหนี้ เลื่อนการชำระหนี้ยอมเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจ่าย หรือขอวงเงินสินเชื่อสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น บางบริษัทไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ต้องยอมผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด

รวมไปถึงการออกตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) ให้ได้เห็นกันมาขึ้น บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ที่ยอมออกหุ้นกู้ประเภทนี้มูลค่า 3,000 ล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงถึง 8.5 % ต่อปีในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งจะจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือนให้กับนักลงทุนรายย่อยด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 100,000 บาท และเปิดขายไปในช่วงวันที่ 22 -25 มิ.ย. นี้ ซึ่งถือว่าเป็นการยอมจ่ายเงินต้นทุนการเงินที่สูงมากเพื่อแลกกับการได้สภาพคล่องไว้ในมือเนื่องจากเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกัน

ล่าสุดบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ประกาศขออนุมัติผู้ถือหุ้นในการออกหุ้นกู้มูลค่า 25,000 ล้านบาท จากเดิมที่ขอวงเงินอยู่แล้ว 95,000 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวจะเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ บวกกับออกหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม(RO)และออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) ไว้รองรับ

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของ MINT ได้ประกาศวงเงิน 300 ล้านดอลลาร์ เสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ซึ่งเป็นหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิและมีประกัน ให้อัตราดอกเบี้ยที่ 3.10 % ต่อปี จ่ายทุก ๆ 6 เดือน

โดยกำหนดออกขายวันที่ 29 มิ.ย. 2563 และมีเงื่อนไขในการขอไถ่ถอน 29 มิ.ย. 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ชำระคืนเงินกู้และเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัท หลังจากผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทเผชิญการพลิกขาดทุน 1,773.52 ล้านบาท และในไตรมาส 2 จะเผชิญขาดทุนหนักมากขึ้น จนทำให้คาดการณ์ทั้งปี 2563 ยังไม่ฟื้นจากตัวเลขติดลบ

ตามแผนการบริหารของ MINT ที่รู้ว่ามีภาระหนี้จำนวนมากรออยู่ 1.29 แสนล้านบาท มีต้นทุนทางการเงิน 2.65 % ซึ่งมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในครึ่งปีหลัง 3,600 ล้านบาท ในปี 2564 จำนวน 14,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่เคยออกก่อนหน้านี้ครบกำหนดชำระ 10,000 ล้านบาท

บวกกันแล้วจะเห็นได้ว่าการเงินตรึงตัวจนน่ากังวลใจว่าจะเพิ่มเติมสภาพคล่องอย่างไร จนมีการออกเพิ่มทุนตามข่าวดังกล่าว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ารอบนี้ MINT จะสามารถตุนเงินในมือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 22,000 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 10,000 ล้านบาท เพิ่มทุน RO จำนวน 12,000 ล้านบาท การออกวอร์แรนต์รองรับใช้สิทธิในอีก 3 ปีข้างหน้าอีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยังมีเงินสดในมือไว้อีก 20,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีก 27,000 ล้านบาท จึงเพียงพอที่จะอุ่นใจใน 2 ปีข้างหน้าให้กับบริษัทสู้กับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกต้องใช้เวลาฟื้นตัวให้กับมาเหมือนเดิมอีก 2 ปีข้างหน้า การกลับมาระบาดของไวรัสโควิด -19 ระรอก 2 จนอาจจะต้องใช้มาตรการคุมเข้มเหมือนที่ผ่านมา ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินการเพิ่มสภาพคล่องมากเพียงพอจะผ่านโควิด-19 ไปได้แม้เกิดระบาดรอบ 2

จาก Cash burn กรณีเลวร้ายที่สุดต้องปิดโรงแรมทั้งหมดในเดือนเม.ย.2563 อยู่ที่ 1,700 ล้านบาทต่อเดือนสมมุติให้ MINT ขาดทุน 1 หมื่นล้านบาทในปี 2563 อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E)อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 1.35 เท่า ใกล้เคียงฐานปี 2562