พลิกปูม ‘4 แคนดิเดต’ ผู้ว่าธปท. จับตา ‘คนใน’ ชิงดำนั่งเก้าอี้

พลิกปูม ‘4 แคนดิเดต’ ผู้ว่าธปท. จับตา ‘คนใน’ ชิงดำนั่งเก้าอี้

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า "ผู้สมัครคัดเลือก" ชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ "ผู้ว่าธปท." มีทั้งหมด 4 คน โดย 1 ใน 4 คนนี้จะเป็นผู้รับไม้ต่อจาก "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธปท. คนปัจจุบันที่กำลังจะครบวาระสิ้นเดือนก.ย.นี้

ทั้ง 4 คน ประกอบด้วย คนใน 2 คน คือ “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน และ “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน 

ส่วนคนนอก 2 คนได้แก่ “ต้องใจ ธนะชานันท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด และ “สุชาติ เตชะโพธิ์ไทร” Head of Research ของ CLSA ประเทศไทย

กระบวนการหลังจากนี้ คือ คณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมี “รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ จะนัดประชุมกันในวันที่ 25 มิ.ย.2563 เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร หากคณะกรรมการเห็นว่ายังไม่มีบุคคลที่มี “ความเหมาะสม” เพียงพอ กระบวนการคัดเลือกอาจ “เลื่อน” ออกไปได้ ....ซึ่งประเด็นนี้กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจการเงิน

ปฎิเสธไม่ได้ว่า “ตัวเต็ง” จาก “ภายนอก” ซึ่งก่อนนี้คาดหมายกันว่า อาจเข้าร่วมลงสมัครคัดเลือกชิงตำแหน่งผู้ว่าการธปท.ในครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น "เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" อธิบดีกรมสรรพากร ดาวรุ่งพุ่งแรงจากฝั่งกระทรวงการคลัง และ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันยังเป็น หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) 

...แต่สุดท้ายก็ไม่ปรากฎรายชื่อของทั้งสองคนลงชิงชัย!

ส่วนรายชื่อผู้สมัครจากฝั่ง “คนนอก” ทั้ง 2 คน ในรอบนี้ คงเรียกได้ว่า “โนเนม” สำหรับผู้คนในแวดวงธุรกิจ-เศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นคนในแวดวงการเงิน-การลงทุนแล้ว น่าจะคุ้นชื่อของทั้ง 2 คนเป็นอย่างดี

คนแรก “ต้องใจ ธนะชานันท์” เธอเป็นบุตรสาวของ “ชวลิต ธนะชานันท์” อดีตผู้ว่าการธปท. คนที่ 11 ลำดับที่ 15 ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 6 มี.ค.-30ก.ย.2533 

“ต้องใจ” เคยเป็นอดีตพนักงาน ธปท. ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่การลงทุน หน่วยลงทุน ฝ่ายการธนาคาร หลังจากนั้นลาออกไปรับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) อยุธยา เจเอฟ จำกัด หรือ “เอเจเอฟ” ก่อนจะได้รับการโปรโมทขึ้นเป็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการลงทุน ของ “เอเจเอฟ” ในเวลาถัดมา 

ส่วนผู้สมัครอีกคน “สุชาติ เตชะโพธิ์ไทร” เขาคือหัวหน้าเก่าของ “ต้องใจ” สมัยที่ทำงานร่วมกันใน เอเจเอฟ โดยขณะนั้น “สุชาติ” รับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการลงทุน ของ เอเจเอฟ พูดง่ายๆ ก็คือ หัวหน้าสายตรงของ “ต้องใจ” นั่นเอง 

“สุชาติ” แม้ประวัติจะเคยพลาดท่าจากการลงทุนใน “ตั๋วบี/อี” ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้(ดีฟอลท์) ในขณะนั้น (ปัจจุบัน คือ บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่) ทำให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ลงโทษด้วยการพักการเป็นบุคคลากรในตลาดทุน 6 เดือน 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร “สุชาติ” นับเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยเฉพาะตราสารอนุพันธ์ เขาเคยดำรงตำแหน่ง Senior Derivatives Dealer ของ Bank for International Settlements ที่สวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่าผู้สมัครฝั่ง “คนนอก” ทั้ง 2 คน ยังไม่อาจสู้ผู้สมัครจาก “คนใน” ได้ โดยเฉพาะประสบการณ์การทำงานด้าน “ธนาคารกลาง” รวมไปถึงประสบการณ์ในการทำ “นโยบายการเงิน” และ “นโยบายสถาบันการเงิน” ซึ่งถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของการรับตำแหน่งผู้ว่าการธปท.

ดังนั้นในวันที่ 29 มิ.ย.2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดสรรจะเปิดให้ผู้สมัครทั้ง 4 คน แสดงวิสัยทัศน์ เพื่อคัดเหลือ 2 คน ก่อนส่งต่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ “ชี้ขาด” ในขั้นสุดท้าย ...จึงน่าจะฟันธงได้แล้วว่า ทั้ง 2 ชื่อที่ถูกส่งต่อให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำการคัดเหลือเพียง คนเดียว คงเป็นชื่อของ “เมธี” และ “รณดล” 

สำหรับ “เมธี” และ “รณดล” นั้น แม้จะจบด้าน “เศรษฐศาสตร์” และทำงานใน ธปท. เหมือนกัน แต่ทั้ง 2 คน เติบโตมาคนละสายงาน ทำให้ความถนัดในแต่ละด้านแตกต่างกันด้วย 

“เมธี” ตลอดการทำงานใน ธปท. กว่า 30 ปี ดูแลสายงาน “นโยบายการเงิน” มาโดยตลอด ดังนั้นในเรื่องของการประเมินเศรษฐกิจ รวมไปถึงการวางนโยบายการเงินให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา จึงถือเป็น “จุดเด่น” เฉพาะตัวของ เมธี ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีผู้สมัคคนใครทัดเทียม

นอกจากนี้ เมธี ยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อร่างสร้าง ธปท. ให้เป็น “สถาบันหลัก” ของประเทศ ผ่านการดำเนินนโยบายที่เสริมสร้างความเข้มแข็งและลดจุดเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ  ...ด้วยบุคคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตน พูดน้อยแต่ตรงประเด็น ของ เมธี  จึงน่าจะทำให้เขาสามารงานร่วมกับทุกฝ่ายได้แบบไร้รอยต่อ 

ส่วน “รณดล” เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เติบโตมากับสายงาน “กำกับ" สถาบันการเงิน ซึ่งฝ่ายงานนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสายนโยบายการเงิน เพราะต้องทำหน้าที่ดูแล สถาบันการเงิน ให้เป็นเสาหลักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ต้องคอยดูแลไม่ให้ สถาบันการเงิน กลายเป็นจุดอ่อนของเสถียรภาพระบบการเงินในประเทศเสียเอง

การกำกับสถาบันการเงินจึงต้องใช้ทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ในการดูแล ช่วงไหนที่เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปต้องคอยกำกับไม่ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้จนละเลยความเสี่ยง แต่ในยามที่เศรษฐกิจชะลอ ก็ต้องดูแลให้สถาบันการเงินเป็นกลจักรในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดยสรุปแล้ว หากไม่มีการเลื่อนระยะเวลาการรับสมัครผู้ว่าการธปท.ออกไป ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเลื่อน เพราะถ้าดูคุณสมบัติของผู้สมัครแล้ว มีอย่างน้อย 2 ราย ที่ครบเครื่องแบบเกินพอ เพียงแต่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเคาะเลือกใคร คงต้องขึ้นกับมุมมองในระยะข้างหน้าว่า ให้น้ำหนักและความสำคัญกับเรื่องอะไรเป็นหลัก ระหว่าง "เสถียรภาพเศรษฐกิจ" กับ "เสถียรภาพสถาบันการเงิน"

...เพราะ "เรื่องนี้" จะเป็นตัวกำหนดว่า "ผู้ว่าการธปท." คนที่ 21 ลำดับที่ 24 ของประเทศไทย จะเป็นใคร!!